ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาและผู้ติดตามรวม 5 คนถูกนำตัวขึ้นศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ (11 พ.ค.) หลังถูกจับกุมในพื้นที่ อ.สันทราย ข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ขณะที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทยอย่าผลักดันทั้ง 5 คนกลับเมียนมา
ผู้สื่อข่าวและผู้ติดตามชาวเมียนมาทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวสังกัด Democratic Voice of Burma (DVB) ถูกตำรวจ สภ. สันทราย จับกุมที่บ้านเช่าแห่งหนึ่งใน อ.สันทราย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.
ร.ต.อ.ดวงฤทธิ์ วรรณฤทธิ์ รอง สารวัตร (สอบสวน ) สภ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นเจ้าของคดีนี้เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าว แต่ยอมรับว่าได้ทำการหลบหนีเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติจริง
“ผู้ต้องหามีหนังสือเดินทางโดยระบุว่ามาจากเมียนมาทั้งหมด แต่ไม่ได้เข้ามาในประเทศอย่างถูกกฎหมาย พวกเขาหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และเดินทางเข้ามายบัง จ.เชียงใหม่ และเช่าบ้านอยู่ที่ อ.สันทราย” ร.ต.อ.ดวงฤทธิ์อธิบาย
“ชาวบ้านที่พบเห็นคนกลุ่มนี้เป็นคนแจ้งเบาะแสเพราะเห็นว่าเป็นชาวต่างด้าวที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ด้วยความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านจึงแจ้งผู้ใหญ่บ้านและเรา (ตำรวจ) ก็มาสอบสวนและส่งฟ้องไปที่ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดูแลต่อไป”
ร.ต.อ.ดวงฤทธิ์ อธิบายว่าในตอนนี้จะยังไม่มีการผลักดันผู้ต้องหาทั้ง 5 คนกลับประเทศต้นทาง เพราะโดยขั้นตอนทางกฎหมาย คดีที่เกี่ยวกับการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายต้องส่งเรื่องฟ้องศาลก่อนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป
FCCT เรียกร้องอย่าส่งกลับประเทศ
วันนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์แสดง “ความกังวลใจอย่างยิ่ง” ต่อกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าว 3 คนจากสำนักข่าว DVB พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 2 คน
“สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้รับการปล่อยตัว และได้รับสิทธิ์ในการพักพิงชั่วคราวในประเทศไทยโดยปลอดภัย ทางการไทยต้องไม่ผลักดันผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายกลับประเทศเมียนมาโดยเด็ดขาด เพราะบุคคลทั้ง 5 จะถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวและดำเนินคดีอย่างแน่นอน” สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กวันนี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีประชาชนถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวแล้วประมาณ 5,000 ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 70 คน
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นคณะรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้ออกคำสั่งริบใบอนุญาตของสำนักข่าว DVB พร้อมด้วยสื่ออื่น ๆ อีก 4 แห่ง ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศเมียนมา แต่ผู้สื่อข่าวหลายคนยังยืนหยัดในการทำหน้าที่ต่อ แม้จะตกเป็นเป้าจากสภาบริหารแห่งรัฐ
ต่อมาในวันที่ 4 พ.ค. รัฐบาลเมียนมาออกคำสั่งห้ามรับชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมทั่วประเทศ แสดงถึงความไม่พอใจของรัฐบาลต่อการรายงานข่าวของ DVB อย่างชัดเจน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารผ่านสัญญาณจานดาวเทียมจากสำนักข่าว DVB และสำนักข่าว Mizzima ซึ่งได้ถูกรัฐบาลสั่งปิดเช่นกัน
“ขณะนี้ ประชาคมโลกกำลังจับตาดูว่าทางการไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมาและการปกป้องบุคคลที่ลี้ภัยจากการปราบปรามอันโหดร้ายของรัฐบาลทหารเมียนมา” แถลงการณ์สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศระบุ
เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) สำนักข่าว DVB ได้ออกแถลงการเรียกร้องให้ทางการไทยไม่ส่งตัวผู้สื่อข่าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นนักกิจกรรมทั้ง 5 คนกลับเมียนมาเช่นกัน
แถลงการณ์ที่ออกโดย เอย ชาน เนียง บรรณาธิการบริหาร DVB เรียกร้องให้ทางการไทยอย่าส่งตัวทั้ง 5 คนกลับเมียนมาเนื่องจากชีวิตของพวกเขาจะตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง
นอกจากนี้ผู้บริหารของ DVB ยังขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยของพวกเข
“เราขอให้ประชาคมระหว่างประเทศช่วยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการส่งกลุ่มคนเหล่านั้นกลับเมียนมา” บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว DVB ระบุ