ภาพทิวสนสองใบและสนสามใบเรียงรายตลอดแนวอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่กลางอ้อมกอดของขุนเขาเขียวชอุ่มยามเช้า คือมนต์เสน่ห์ของปางอุ๋งที่นำพานักเดินทางเข้ามาเยือนที่นี่อยู่ตลอดทั้งปี ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่มีสายหมอกขาวลอยเหนือผืนน้ำ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศโรแมนติกให้กับปางอุ๋ง อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา และมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่เสมอ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรบริเวณนั้น พร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน ปัจจุบันปางอุ๋งได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด มีการปลูกสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ในด้านอาหารและแพทย์แผนไทย ซึ่งกลมกลืนกับพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น และสุดท้ายคือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ประจำถิ่นซึ่งกำลังจะสูญพันธ์อย่างเขียดแลว นอกจากกิจกรรมชมธรรมชาติยามเช้าของปางอุ๋งแล้ว นักท่องเที่ยวยังนิยมล่องแพชมทัศนียภาพในทะเลสาบที่มีหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเติมความงดงามให้ปางอุ๋งติดตรึงอยู่ในหัวใจ นักท่องเที่ยวไปตราบนานแสนนาน ทิปส์ท่องเที่ยว ปางอุ๋งเปิดให้เข้าพื้นที่ทุกวัน เวลา 06.00-20.00 น. นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมต้องลงทะเบียนผ่านศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 1244, 08 5618 3303 โทรสาร 0 5361 1649 จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้ ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. เท่านั้น ที่พักบนปางอุ๋ง จะมีเครื่องปั่นกระแสไฟให้ใช้เฉพาะช่วงเวลา 18.00-22.00 น. เท่านั้น นักท่องเที่ยวควรเตรียมไฟฉายและแบตเตอรีสำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน นักท่องเที่ยวที่ไม่พักค้างแรม ไม่ต้องรับบัตรผ่าน แต่ไม่สามารถนำรถส่วนตัวขึ้นไปได้ และสามารถจอดรถขึ้นรถโดยสารได้ที่บ้านนาป่าแปก จากบ้านนาป่าแปกไปปางอุ๋ง รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลา 15 นาที มีบริการรถสองแถวทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. การจองที่พักสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 1244 โทรสาร 0 5361 1649