ที่นี่คือวัดแห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2336 แม้ปัจจุบันผ่านการบูรณะจนไม่เหลือเค้าเดิมของวัดเก่าเท่าไรนัก แต่ภายในวัดแสนทองก็มีสิ่งที่น่าสนใจควรค่าแก่การเยี่ยมชม ได้แก่ พระเพชร หรือพระสิงห์หนึ่ง พระพุทธสิหิงค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่เก่าแก่และงดงามมากองค์หนึ่ง เหตุที่ได้ชื่อว่าพระเพชรนั้น เพราะเคยมีเพชรฝังอยู่ที่องค์พระอยู่สามเม็ดคือ ระหว่างพระขนงหนึ่งเม็ดและที่ไหล่ข้างละหนึ่งเม็ด แต่หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาเพชรดังกล่าวได้สูญหายไป ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระเพชรนั้น สามารถบันดาลให้เกิดฝนในการทำการเกษตรได้ พระแสนทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว จากตำนานกล่าวว่า เดิมทีมีพระแสนทองอยู่สององค์คือ องค์พี่กับองค์น้อง เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งแล้ง ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วมวัด ทำให้วัดทุ่งแล้งจมลงไปในแม่น้ำยวม พร้อมพระแสนทองทั้งสององค์ ชาวบ้านได้ใช้เชือกดึงอัญเชิญพระแสนทองขึ้นจากน้ำยวม แต่กู้ได้เพียงพระพุทธรูปองค์น้องเท่านั้น ต่อมาชาวอำเภอแม่สะเรียงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดกิตติวงศ์ และวัดคะปวงใน หรือวัดสิทธิมงคล แต่ก็ยังคงไม่สามารถชักลากเข้าไปในวัดได้ จนต้องชักลากไปยังวัดลุ่มจึงชักพระเข้าไปในวัดได้ ซึ่งวัดลุ่มแห่งนี้ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดแสนทองตามชื่อพระพุทธรูปแสนทองนั่นเอง ในช่วงสงกรานต์ทางวัดจะมีการแห่พระทั้งสององค์รอบเมืองให้ได้ชาวบ้านได้สรงน้ำและสักการะ