ชมสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่ผสมผสานวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ได้อย่างลงตัว ณ วัดพระนอน โดยรูปทรงหลังคาวัดแห่งนี้เป็นแบบสองคอสามชายและทรงปานซอยเหมือนวัดพระธาตุดอยกองมู สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ คือองค์พระนอนที่มีความยาว 11 เมตร 90 เซนติเมตร ตลอดทั้งมีพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิและพระทรงเครื่องต่าง ๆ รวมถึงพระบัวเข็ม พระสิวลี รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม นอกจากนี้ภายในห้องเก็บของโบราณ ยังมีหนังสือพระไตรปิฎกและวัตถุโบราณ ถ้วยโถโอชามและของใช้สอยของชาวญี่ปุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านหลังวัดมีสิงห์คู่สองตัวยืนคู่กัน เชื่อกันว่าชานกะเลและเจ้านางเมี๊ยะเป็นผู้สร้างและบริเวณฝั่งตรงกันข้ามจะมีเจดีย์ 2 หลังเป็นศิลปะแบบพม่าข้างในเจดีย์หลังแรกมีพระพุทธรูป 1 องค์ และเจดีย์หลังที่ 2 มีพระพุทธรูปแบบพม่า 4 องค์ ซึ่งด้านหน้าเจดีย์หลังที่ 2 นี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั่งสมาธิอยู่กลางแจ้งไร้ที่กำบังน่าสนใจยิ่งนัก วัดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมดี ๆ ในแม่ฮ่องสอนที่นักเดินทางไม่ควรพลาด ที่มาของวัดพระนอน ตามประวัติกล่าวว่า วัดพระนอนสร้างเมื่อขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2418 โดยพญาสิงหนาทราชา (นามเดิมว่า ชานกะเล เป็นชาวไทใหญ่ ) เจ้าเมืององค์แรกของแม่ฮ่องสอน ซึ่งตรงกับรัชสมัยราชกาลที่ 5 โดยมูลเหตุที่สร้างองค์พระนอนขึ้นมานั้น มี 2 ประการคือ 1.เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน และได้รับพระราชทานนามว่า “พญาสิงหนาทราชา” เมื่อ พ.ศ. 2417 อีกทั้งเป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่หมู่บ้านแม่ฮ่องสอนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง และ 2.ท่านเป็นผู้เกิดวันอังคารจึงสร้างองค์ไสยาสน์ (พระนอน) ขึ้น ให้เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมือง และให้เป็นที่สักการะกราบไหว้บูชา ของชาวเมืองแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองแถวชายแดนไม่คอยสงบ องค์พระนอนจึงสร้างไม่เสร็จ และท่านได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อนเมื่อ พ.ศ. 2427 ต่อมาเจ้านางเมี๊ยะ พระชายา ทรงขึ้นครองเมืองเป็นเจ้าเมืององค์ที่ 2 พระองค์ทรงสร้างองค์พระนอนยาว 11 เมตร 90เซนติเมตร ต่อจนสำเร็จเรียบร้อย และจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับตั้งชื่อว่าวัดพระนอนตามสถานที่ที่องค์พระนอนประดิษฐานไว้ก่อนแล้ว และได้นิมนต์ครูบาชมภูมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระนอน อภินิหารแห่งองค์พระ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อ พ.ศ. 2477 หลังคาวิหารพระนอนมุงด้วยสังกะสีเก่าพอสมควร อยู่มาวันหนึ่งเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายมางีบหลับในวิหารขณะที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น ได้เห็นว่าองค์พระนอนกำลังลุกหนีเพราะฝนตกหนักและองค์พระทนน้ำฝนไม่ไหวเด็กเลี้ยงวัวจึงพากันวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านและบอกกับชาวบ้านว่าให้รีบไปดูพระนอน เพราะพระจะลุกหนีแล้ว เมื่อชาวบ้านได้ยินก็แห่กันมาดูที่วัด และต่างก็แปลกใจที่พระบาททั้ง 2 ข้างของพระนอนนั้น กำลังงอขึ้นจริง และเหลื่อมล้ำกันนิดหน่อย โดยพระบาทข้างซ้ายที่ทับข้างขวาสั้นกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะศรัทธาในเมืองพากันหลั่งไหลเข้ามาดูและช่วยกันบริจาคปัจจัยคนละเล็กคนละน้อยเพื่อรวบรวมเป็นจตุปัจจัยซื้อสังกะสีใหม่มามุงวิหารแทนสังกะสีเก่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2481ในขณะที่คณะศรัทธาทุกคนในเขตเทศบาลและนอกเขตพากันมากราบนมัสการองค์พระ ปรากฏว่าพระนอนมีน้ำตาไหลออกมาจากพระเนตรคล้ายกับร้องไห้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 6 เดือนเศษ และต่อมาไม่กี่ปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชาวบ้านพากันเชื่อว่านี่คือปาฏิหาริย์ขององค์พระนอน ที่ช่วยเตือนสติให้คนเราอย่าให้มีความประมาท และในปี พ.ศ. 2486 กลางดึกเดือนกันยายนหลังสงครามโลกเกิดขึ้น มีขโมยกลุ่มหนึ่งลอบเข้ามาเจาะด้านหลังองค์พระนอนเพื่อจะเอาแก้วแหวนเงินทองที่เจ้าเมืององค์ที่ 1 บรรจุไว้ และพากันขนไปหมด แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันบรรจุของมีค่าเข้าไปใหม่และปิดไว้เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันรอยนั้นก็ยังปรากฏอยู่ ส่วนบรรดาหัวขโมยนั้น เล่าลือกันว่าทุกคนต่างมีอันเป็นไป จะจริงเท็จอย่างไรนี่คือเรื่องเล่าจากปาฏิหาริย์ขององค์พระที่ชาวบ้านให้ความนับถือ