วัดจองกลาง เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดจองคำ และวัดจองใหม่ (โรงเรียนพระปริยัติธรรม)เดิมเป็นศาลาที่พักคนมาจำศีลในวันพระ วัดจองกลางหลังนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เครือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เดิมเป็นศาลาเย็นของวัดจองใหม่มีผู้คนท้องถิ่นมาพักอาศัยอยู่เป็นประจำ เมื่อเจ้าอาวาสวัดจองใหม่องค์สุดท้ายได้มรณภาพไป มีพระภิกษุจากเมืองหมอกใหม่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ และเข้ามาพักอาศัยในศาลาเย็นดังกล่าว คณะศรัทธาเคารพนับถือพระภิกษุองค์นี้เป็นอย่างมาก จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาประจำศาลาต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 มีศรัทธาคือ ลุงจองจายหล่อ , ลุงพหะจ่า , ลุงจองตุ๊ก, และพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) , ลุงจองจ่อ ได้ร่วมกันสร้างวัด หลังคามุงด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย แบบสถาปัตยกรรม โดยช่างฝีมือชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะห้องทางด้านหลังทิศตะวันออก ตามฝาผนังประดับภาพรวม 180 ภาพ โดยมีช่างฝีมือช่างพม่า ลุงจองตุ๊ก แม่จองโอ่ง นำมาจากเมืองมะละแหม่งประเทศพม่า มาติดถวายไว้ และเมื่อทำการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงตั้งชื่อว่า ” วัดจองกลาง” เพราะอยู่ระหว่างวัดจองคำกับวัดจองใหม่ และปีต่อมาพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) แม่จองเฮือน มีจิตศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม มุขสี่ด้าน แต่ละด้านสร้างสิงห์ไว้ 1 ตัว พร้อมกับสร้างศาลาวิปัสสนาติดองค์พระธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกหลังคาทรงปราสาททำด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2545 ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กตรงข้ามทิศตะวันออกวัดจองกลาง ลุงจองตุ๊ก แม่จองโอ่ง เป็นเจ้าคณะศรัทธาสร้างขึ้น ก่อนวัดจองกลางประมาณ 20 กว่าปี (ไม่ปรากฏ พ.ศ. สร้าง) และวัดจองกลางรวมเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โดยวัดจองกลางเป็นคณะ 2 ปัจจุบันมีพระภิกษุ 6 รูป และสามเณร 14 รูป วัดจองกลางเป็นวัดที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมากเนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพระอุปคุตที่ประดิษฐานอยู่ที่ทางเข้าหน้าวัดจองกลางเชื่อกันว่าเมื่อมีการจัดงานเทศกาลหรือทำบุญต่าง ๆ จะต้องมีการบวงสรวงพระอุปคุตเสียก่อนเพื่อเป็น ศิริมงคลแก่ตนเองและญาติพี่น้องจะทำให้เจริญก้าวหน้าและจะไม่เกิดอุบัติเหตุเพศภัยใด ๆ ทำให้ชีวิตราบรื่นจึงยึดถือและปฏิบัติต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย 1. เจดีย์วิหารเล็กด้านหน้าศาลาการเปรียญติดหนองจองคำจัดเป็นเจดีย์ที่มีความสวยงาม โดดเด่นสันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัดจองกลางวิหารเล็ก มีหลังคาเรือนยอดทรงปราสาทซ้อนถึงห้าชั้น ส่วนยอดของหลังคาที่สูงที่สุดประดับด้วยฉัตรทองสามชั้น หลังคามุงสังกะสี มีโลหะฉลุลายตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ ของหลังคาและเชิงชาย 2. วิหารใหญ่เป็นอาคารอเนกประสงค์ คือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ใช้ประกอบพิธีกรรมงานบุญประเพณี จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นหอฉันและกุฏิของเจ้าอาวาสด้วย ลักษณะเด่นของอาคารคือ มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ที่ชายคาตกแต่งด้วยโลหะฉลุลายอย่างหรูหราตามสไตล์ของวัดไทใหญ่ 3. ศาลาการเปรียญวัดอาคารไม้หลังคามุงสังกะสีสูงเป็นชั้น เรียกว่า “สองคอสามชาย”ศาลาหลังนี้เป็นของเดิมทั้งหมดมีต่อเติมบางส่วนเฉพาะด้านตะวันออก 4. จิตกรรมหลังกระจกนำมาจากเมืองมัณฑะเลย์เมื่อราว พ.ศ. 2400 ขนาด 30×30 เซนติเมตรผนึกอยู่ใน กรอบไม้ติดผนังมีจำนวน 180 ภาพเป็นเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรชาดก 5. ห้องพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนวัดจองกลาง จัดแสดงตุ๊กตาไม้แกะสลักที่นำมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 จำนวน 33 ตัว มีทั้งรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรชาดก นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์โบราณ พระพุทธรูปหินอ่อนองค์เล็กฝีมือประณีตงดงาม ถ้วยโถโอชาม และเครื่องใช้โบราณอีกหลายชิ้น สำหรับการเดินทางไปยังวัดจองกลางนั้นวัดจองกลางอยู่ในตัวอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ เขต1 ประมาณ 5 กม.ไปทางทิศตะวันออก ถ.ชำนาญสถิตย์ ห่างจากขุนลุมประพาสประมาณ 100 เมตร