DSI นิติวิทยาศาสตร์ ยธ. มอบบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบุคคลสัญชาติไทยที่ตกหล่นได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน เป็นการตรวจจาก ดีเอ็นเอ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ ด้วยหลักสายโลหิต ที่ใช้สารพันธุกรรม หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบในการรับรอง
วันนี้ 22 มีนาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรรีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอำเภอแม่สะเรียง นายอำเภอสบเมย และมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จัดพิธีมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลที่ผ่านกระบวนการพิจารณาสัญชาติ เพื่อเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน โดยมีผู้รับมอบบัตรประชาชนใน อ.แม่สะเรียง จำนวน 20 ราย และ อ.สบเมย จำนวน 1 ราย ณ หอประชุม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
โดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ต้องการอำนวยความยุติธรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนที่เป็นคนไร้สัญชาติ (กลุ่มตกสำรวจ) เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับสิทธิ์ที่พึงจะได้รับ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้นำหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน บริหารงานในการอำนวยความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชน ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและสามารถเข้าสิทธิได้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้าน นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ในนามของ ภาคประชาสังคม ระบุว่า กลุ่มคนไร้สัญชาติกลุ่มนี้ เป็นคนไทยดั้งเดิม เป็นคนไทยติดแผ่นดิน หรือ ตามภาษากฎหมายคือเป็นคนไทยที่จะได้สัญชาติไทยด้วยสายโลหิต ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล เกิดนาน แต่ ไม่มีพยานหลักฐานไม่เพียงพอในการขอสัญชาติ และ นายทะเบียนสอบสวนถึงที่สุดแล้ว ไม่สามารถอนุมัติได้ จึงเป็นที่มาของการตรวจดีเอ็นเอ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ในส่วนของภาคประชาสังคม มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล รวบรวมรายชื่อ นำเสนอนายทะเบียน ทำผังเครือญาติ สอบสวนเบื้องต้นและทำหนังสือส่งตัวเพื่อขอตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งการตรวจดีเอ็นเอ นั้นไม่ใช่ตรวจเพื่อเอาสัญชาติ แต่เป็นการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ด้วยหลักสายโลหิตที่เราใช้สารพันธุกรรม หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบในการรับรอง ซึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังมีพี่น้องในกลุ่มนี้อีกหลายพันคนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากนับวันบุคคลพยานหลักฐานเริ่มหายเนื่องจากบุคคลที่รู้เห็นการเกิดเสียชีวิต หรือ แม้กระทั้งผู้ที่ต้องตรวจดีเอ็นเอได้เสียชีวิตไปแล้ว