ในวันคริสต์มาสอีฟของปีที่แล้ว ที่รัฐกะเรนนี ประเทศพม่า ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน เกิดเหตุสังหารหมู่และเผาศพพลเรือนเกือบ 50 ราย โดยที่ผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวล ทั้งนี้มีหลักฐานระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าเป็นผู้ก่อเหตุ ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตยังมีความมุ่งมั่นที่จะนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
ยานพาหนะถูกเพลิงไหม้กว่า 15 คัน ภายหลังเหตุสังหารหมู่ที่บ้านโมโซ (Moso) ที่รัฐกะเรนนี ทางตะวันออกของพม่าเมื่อ 24 ธันวาคม 2564 (ที่มา: แฟ้มภาพ/KNDF)
26 ธ.ค. 2565 ในคืนวันคริสต์มาสอีฟหรือวันที่ 24 ธันวาคมของปีที่แล้ว (2564) ใกล้หมู่บ้านโมโซ ที่รัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี ทางตะวันออกของประเทศพม่า ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนเกือบ 50 รายถูกสังหารและถูกเผาอย่างโหดเหี้ยม กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวหาว่าเผด็จการทหารพม่าเป็นผู้ก่อเหตุและพวกเขายังคงพยายามนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับหมู่บ้านโมโซ เมืองพรูโซ รัฐกะยา มีกลุ่มทหารบังคับให้พลเรือนลงจากรถ แล้วลงมือสังหารก่อนที่จะเผาร่างของพวกเขา เรื่องนี้ทำให้เกิดการประณามอย่างหนักสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา
แต่ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะมีพยานและหลักฐานชัดเจนที่ชี้ชัดว่ากองทัพเผด็จการพม่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่กองทัพพม่าก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ก่อเหตุสังหารในครั้งนี้ และกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ความขัดแย้งต่อเนื่องรอบใหม่ในพม่าปะทุขึ้นนับจากที่กองทัพพม่าทำการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ตำรวจรัฐกะเรนนี ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านเผด็จการทหาร กล่าวยืนยันว่า มีผู้ที่ถูกสังหารประกอบด้วยผู้เยาว์ 3 ราย คนในพื้นที่ 45 ราย มีอยู่ 2 รายในจำนวนนี้ที่เป็นลูกจ้างของกลุ่มองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม Save The Children และมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจรัฐกะเรนนีถูกสังหาร 4 นาย
กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า ศพและชิ้นส่วนร่างกายของผู้ถูกสังหารหมู่ในครั้งนี้ถูกเผาแล้วก็ถูกนำไปฝัง แต่ผู้ที่ก่อเหตุยังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด
ผู้หญิงคนหนึ่งที่น้องชายของเธอเสียชีวิตในการสังหารหมู่ในครั้งนี้กล่าวว่าเธออยากให้ผู้ที่ก่อเหตุถูกลงโทษจากอาชญากรรมที่พวกเขาทำ และขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่ามีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันเพื่อความเป็นธรรมแก่เหยื่อด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่พวกเขาสามารถทำได้ เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียชีวิตอย่างไร้ความชอบธรรม
กองกำลังแห่งชาติกะเรนนี (Karenni Nationalities Defense Force หรือ KNDF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่สู้รบกับเผด็จการทหารพม่า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาสามารถจับตัวทหารฝ่ายเผด็จการมาได้ 4 นาย จากกองพัน 108 สังกัดกองพลที่ 66 ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในครั้งนั้น
มาวี เลขาธิการที่ 2 ของ KNDF กล่าวว่ากองกำลังของพวกเขาได้ไต่สวนทหารยศสิบเอกและทหารชั้นยศอื่นๆ อีก 3 นาย เพื่อให้ทราบว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่คริสต์มาสอีฟเมื่อปีที่แล้วหรือไม่
“พวกเรากำลังพยายามให้ความยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดและไร้ความชอบธรรม … พวกเราจะเดินหน้ายืนหยัดเคียงข้างพวกเขา” มาวีกล่าว
บันยาร์ ผู้อำนวยการของกลุ่มสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกะเรนนี (KNHRG) กล่าวว่าองค์กรของเขากำลังฟ้องร้องในเรื่องการสังหารหมู่นี้จากประเทศเยอรมนี หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการฟ้องร้องในเรื่องนี้จากออสเตรเลียในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่ผู้ดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนั้นคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าที่ตั้งขึ้นมาคู่ขนานกับรัฐบาลเผด็จการพม่า
บันยาร์บอกว่า “พวกเราสามารถใช้วิธีการทางกฎหมายในการดำเนินการโต้ตอบเผด็จการทหารได้”
เช่นเดียวกัน ทาง NUG ก็กำลังดำเนินการทางกฎหมายเพื่อหวังจะเอาผิดเผด็จการทหารพม่าในชั้นศาลโดยอาศัยการฟ้องร้องคดีจากประเทศอื่นและจากศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพม่า รวมถึงกรณีการสังหารหมู่ในโมโซด้วย อ่องเมียวมิน รัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชนของ NUG เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ฝ่ายเผด็จการทหารพม่ากล่าวหาว่า เหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของ NUG อีกทั้งยังอ้างว่าเป็นฝีมือของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ที่มีปีกการทหารคือกองกำลังกะเรนนี (KA) ที่สู้รบกับรัฐบาลพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ฝ่ายเผด็จการทหารกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีพลเรือนเสียชีวิตในช่วงที่มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลกับกองทัพพม่าในตอนที่กองทัพพม่ากำลังทำการดักสกัดยานยนต์ 7 คันที่กำลังมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านโมโซ
จ่อซอ โฆษกของสำนักทำเนียบประธานาธิบดี NUG กล่าวว่า ทางรัฐบาล NUG มีความมุ่งมั่นในการนำตัวผู้กระทำผิดในการสังหารหมู่ในครั้งนี้มารับผิดชอบให้ได้ “ตามกฎหมายนานาชาติแล้ว กระบวนการในกาฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศบางครั้งก็ใช้เวลานาน แต่ผู้ก่อเหตุจะไม่มีทางหนีพ้นไปจากอาชญากรรมของตัวเองได้”
ข้อมูลจากองค์กรเครือข่ายเพื่อสังคมของกะเรนนีที่มีการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารในพม่าเมื่อช่วง ก.พ. 2564-ธ.ค. 2565 มีพลเรือนในรัฐกะยาที่ถูกสังหารโดยเผด็จการทหารรวมแล้ว 290 ราย นอกจากนี้การสู้รบระหว่างกองทัพเผด็จการพม่ากับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลก็ส่งผลให้มีพลเรือนมากกว่า 200,000 รายต้องหนีตายจากที่อยู่ของตัวเองกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
เรียบเรียงจาก
One year on, still no justice for Burmese killed in Christmas Eve massacre, Radio Free Asia, 23-12-2022