เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคนไทยจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้เกือบเหมือนปกติ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ หรือการทำกิจกรรมที่เป็นเป็นหมู่คณะมากยิ่งขึ้น หลังจากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เห็นชอบให้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ร้านเสริมสวย นวดและสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ และเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ รวมทั้งลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้
นับเป็นการคลายล็อกที่สร้างการตื่นตัวให้กับคนในประเทศอย่างมาก หลังจากที่โดยจับล็อกแทบจะขยับตัวไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมา!!!
เริ่มจากการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้าเพิ่มเติม ระยะนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และ เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก จ.กระบี่
จากนั้นเป็นแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 10 จังหวัดระยะที่ 1 เริ่ม 1 -30 พฤศจิกายน 2564 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง เกาะพยาม จ.เชียงใหม่ (อ. เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง)
ตามด้วยแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 20 จังหวัด ระยะที่ 2 เริ่ม 1-31 ธันวาคม ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
และแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 13จังหวัด ระยะที่ 3 เริ่ม 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล
ทั้งนี้ในมุมมองของนักธุรกิจมองในเรื่องของการที่ศบค.คลายล็อคในครั้งนี้เชื่อว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ โดย “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า การจับจ่ายใช้สอยทางเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมนี้ น่าเพิ่มมาเป็น 10,000-12,000 ล้านบาทต่อวัน
“มองว่าหลังจากที่ ศบค. มีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ร้านเสริมสวย นวดและสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ และเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ ถือเป็นข่าวดี และเป็นการส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนที่เหลือ รวมทั้งสะท้อนความสามารถของระบบสาธารณสุข ที่พร้อมจะรับมือกับการแพร่ระบาด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้กลับมาเป็นบวกได้”
นอกจากนั้น แผนการเปิดเมืองที่จะทยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้นั้น หอการค้าไทยได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร และ ททท. ในการวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางที่ผ่านเกณฑ์มาตรการต่าง ๆ ให้เข้า-ออกประเทศไทยได้ โดยมีการจำกัดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นโดยเร็ว เชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลับมาได้
เช่นเดียวกับ “นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) สตาร์ตอัพธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์แบรนด์ไทย กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งแต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือจำนวนนักท่องเที่ยว ต้องมีการเข้มงวดด้านสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การเว้นระยะห่าง และสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การสอบถามหรือคัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนเข้าพัก เช่น การสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีน (ไทม์ไลน์) การท่องเที่ยวช่วงก่อนหน้าในรอบ 7 วัน รวมถึงบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าพัก เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของการบริการก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น การเช็กอิน เช็กเอาต์ บนห้องพัก การเพิ่มจุดรับประทานอาหารเช้าแบบ open air ริมสวนหรือริมชายหาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากนี้ต่อไปจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามลำดับ และคาดว่าจะกลับมาให้บริการได้แบบเต็ม 100% ช่วงประมาณปี 2565-2566 ตามคาดการณ์ของไออาต้า (สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
การประกาศคลายล็อกครั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนจะกลับมามีความสุขกับอีกครั้ง แต่ต้องไม่ลืมบทเรียนที่ผ่ามมาของการคลายล็อกว่ามีผลลัพธ์อย่างไร!?! ถ้าไม่อยากกลับไปเป็นเหมือนเก่า!!! เพราะฉะนั้นทุกคนต้องยึดคำมั่นไว้เสมอ “การ์ดอย่าตก”