นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเวลานี้ ว่า ได้ก้าวเข้าสู่เวฟที่ 5 จากการคาดการณ์ ของดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่พบว่ากราฟการติดเชื้อกำลังตั้งชัน เร็วกว่าเดิม 5 วัน จากที่เคยคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อจะเริ่มสูงขึ้นประมาณวันที่ 10 ม.ค.65 โดยวันที่ 5 มกราคม 65 มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ที่ 3,899 คน มีตัวเลขคนติดเชื้อจากการตรวจ ATK ประมาณ 3,000 คน ซึ่งจะทำให้มีผู้ป่วยรวมกว่า 7,000 คน
ด้าน พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลตั้งแต่ 1 พ.ย.64-วันที่ 4 ม.ค.65 ประเทศไทยยังคงพบสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก 78.91%
ส่วนสายพันธุ์โอไมครอนพบผู้ป่วยแล้ว 2,238 ราย หรือประมาณ 20.92% โดยกระจายไปใน 55 จังหวัด ซึ่ง 2,238 ราย พบกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการพบเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อีกครึ่งติดจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นวงที่ 2 โดยได้รับการตรวจหาเชื้อและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่อยู่ในระบบการรักษาส่วนใหญ่ยังคงเป็นเดลต้า ขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังคือ กลุ่มที่ยังไม่มีภูมิ ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโดยจังหวัดที่ยังมีมีอัตราการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ขณะที่อาการของโอมิครอน รุนแรงน้อยกว่า เดลตา แต่แพร่เร็วกว่า มีอาการไอ 54% เจ็บคอ 39% ไข้ 29% อาการคล้ายไข้หวัดแยกยาก ดังนั้นใครรู้ตัวมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรงดทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
สำหรับอัตราการครองเตียง หากไม่เกินการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคที่คาดว่าไว้สูงสุดไม่เกินวันละ 30,000 คน มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยมีเตียงในระบบรองรับได้ 50,000 เตียง อยู่ใน กทม. ปริมณฑล จำนวน 31,701 เตียง ใช้ไปแล้ว 5,873 เตียง คงเหลือ 25,828 เตียง