คณะกรรมการฯ ตรวจเยี่ยมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขับเคลื่อนเป้าหมาย ชุมชนเกิดความปรองดองสมานฉันท์ ชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประชาชนประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 น. ณ วัดห้วยขาน หมู่ที่ 3 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พระเทพรัตนนายก ประธานคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนเหนือ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมติดตาม-ประเมินผล การดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ประจำปี 2565 ณ วัดห้วยขาน โดย พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ ดร. เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสพระธาตุดอยกองมู นำคณะสงฆ์ในจังหวัดฯ และนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นำหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธี
โดยมี นายสมศักดิ์ ณ มาตคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมอกจำแป่ พร้อมด้วย นางถนอม ณ มาตคำ กำนันตำบลหมอกจำแป่ นายณรงค์ วิทยาสมานกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านห้วยขาน นำหน่วยงานในพื้นที่ตำบลหมอกจำแป่ เช่น โรงเรียนบ้านห้วยขาน ผู้นำท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายชุมชน และพุทธศาสนิกชนในตำบล ร่วมให้การต้อนรับคณะด้วยความยินดียิ่ง
ทั้งนี้ พระเทพรัตนนายก ประธานคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนเหนือ ได้มอบโล่เกียรติคุณ หมู่บ้านรักษาศีล 5 หนเหนือ ประจำปี 2565 ให้กับหมู่บ้านห้วยขาน หมู่ที่ 3 ตำบลหมอกจำแป่ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปี 2565 และมอบเกียรติบัตร ให้กับหน่วยงาน และผู้ที่ทำคุณประโยชน์ ในโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ” ประจำปี 2565 จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หมู่บ้านห้วยขาน หมู่ที่ 3 ตำบลหมอกจำแป่ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปี 2565 มีความเป็นมาและประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 120 ปี ปี พ.ศ. 2470 ชาวบ้านได้อพยพโยกย้ายจากบ้านสองแคว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยขานแห่งนี้ ประมาณ 30 ครัวเรือน และในปี พ.ศ.2524 ได้มีชาวปะโอกลุ่มแรก ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานยังบ้านห้วยขาน ปัจจุบัน มีจำนวนครัวเรือน 215 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากร จำนวน 1,151 คน บ้านห้วยขานมี 2 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน คือชาติพันธุ์ไทใหญ่ และปะโอ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประชาชนประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พึ่งพากันและกัน โดยมีศีล 5 เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ









