ทั่วไป
26 ต.ค. 2564 เวลา 14:35 น.
เกษตรกรผู้ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน นัดรวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ พร้อมกัน ขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาเกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อวรัสโควิด-19 ทำราคาตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน
เกษตรกรผู้ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน นัดรวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ พร้อมกัน ขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาเกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อวรัสโควิด-19 ทำราคาตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยสภาอาชีพเกษตรกร (สอก.) จังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในฤดูกาลผลิตปี 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ สภาอาชีพเกษตรกร ได้มีการนัดหมายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดพร้อมกันในเวลา 09.00 น. โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มารับหนังสือ พร้อมรับปากจะช่วยดำเนินการส่งเรื่องเข้าไป เพื่อให้รัฐบาลพิจารณา
นายสง่า มังคละ เลขาธิการสภาอาชีพเกษตรกร (สอก.) จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเข้ามายื่นหนังสือในครั้งนี้ เพื่อต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ปลูกลำไยที่ได้รับการเดือดร้อนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้มีการนัดหมายให้แต่ละจังหวัดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดพร้อมกัน
สำหรับพื้นที่ปลูกลำไยในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวน 1,202,400 ไร่ จำนวนผลผลิต 1,238,000 ตัน มีเกษตรกรจำนวน 250,000 ครอบครัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาลำไยตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน กลไกตลลาดมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกลำไยไปต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรขาดทุนมีภาระหนี้สิ้น ไม่มีเงินทุนในการผลิตลำไยคุณภาพในรอบผลิตปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาเยียวยาไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ เหมือนปีที่ผ่านมา
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่เป็นสมาชิกสภาอาชีพเกษตรกร มีอยู่ประมาณ 80,000 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกรวมประมาณกว่า 100,000 ไร่ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ราคาลำไยตกต่ำมาก ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม แต่จำหน่ายได้เพียง 8 บาท, 5 บาท, 3 บาท ต่อกิโลกรัมเท่านั้น บางส่วนที่ตกเกรด เกษตรกรต้องทิ้ง เพราะไม่สามารถจำหน่ายได้
นอกจากนั้นยังประสบปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทัน เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด การนำแรงงานเข้าไปเก็บผลผลิตต้องทำตามมาตรการการป้องกันอย่างเคร่งครัด โดยต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครอง ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่เคยมีพ่อค้าจากจีนเข้ามารับซื้อ ในปีนี้ไม่มีการเข้ามารับซื้อน้อยมาก ขณะที่ราคาปุ๋ยที่ต้องใช้บำรุงต้นลำไย ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีทุนในการต่อยอดผลิตลำไยในปี 2565
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกลำไย จะผลิตลำไยคุณภาพที่ส่งออกไปจีนและอินโดนีเซีย บางส่วนนำเข้าโรงอบเพื่อทำลำไยอบแห้ง ในปีนี้เกษตรกรส่งออกไปต่างประเทศเพียงร้อยละ 20 และจำหน่ายภายในประเทศประมาณร้อยละ 10 ร้อยละ 70 ต้องทิ้งไป