เกษตรกรบ้านนาแปก แม่ฮ่องสอนรวมกลุ่มปลูกผักปลอดภัยใส่ใจชุมชน ตามโครงการธนาคารอาหารชุมชนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างรายได้ต่อเนื่อง โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนติวเข้ม
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 โครงการธนาคารอาหารชุมชน “food bank” บ้านนาป่าแปก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 โดยการจัดสรรพื้นที่ทำกินและส่งเสริมทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยการปลูกพืชผักเมืองหนาวที่ปลอดสารพิษ เกษตรกรและคนในชุมชนบ้านนาป่าแปกแห่งนี้ได้รับความรู้จากการอบรมและส่งเสริมงานด้านต่างๆ จากสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ที่คอยผลักดันเกษตรกรให้สามารถปลูกพืชผักปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน เรื่อยมาจนทำให้เกษตรกรปลูกผักปลอดภัย มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น
นายวิโรจน์ บรรเจิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารอาหารชุมชนบ้านนาป่าแปก ทางสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนได้เริ่มเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่แรกเริ่ม โดยการเตรียมพื้นที่ เตรียมแปลง ปรับพื้นที่โดยการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ใช้วัสดุปูนจำพวกปูนโดโลไมท์ในการปรับปรุงบำรุงดิน จนทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกผัก คือมีทั้งความร่วนซุย มีทั้งคุณสมบัติทางเคมีที่ไม่เป็นกรดเกินไป ซึ่งพื้นที่บ้านนาป่าแปกอยู่ใกล้กับศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้ได้สัมผัสได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 เป็นต้นมา โดยเฉพาะพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชดำริให้สร้างโครงการธนาคารอาหารชุมชนขึ้นมา และเคยเสด็จมาในที่แห่งนี้ รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็เคยตามเสด็จมาด้วยในปี 2544 หลังจากนั้นก็มีการเสด็จอีกครั้งหนึ่งของพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อปี 2547 เพื่อดูความก้าวหน้าของธนาคารอาหารชุมชน ชาวบ้านได้นำหลักคิดไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งชาวบ้านและเกษตรกรมีการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้สำหรับครอบครัว มีความมั่นคงด้านอาหาร เกษตรกรพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเกษตรกรบ้านใกล้เรือนเคียงได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นางกุ้งนาง หนันติ๊ เกษตรกรธนาคารอาหารชุมชน กล่าวว่า สมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้จะเป็นดินลูกรัง ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะไม่มีน้ำ เดิมจะเป็นแหล่งปลูกฝิ่น ตั้งแต่ได้จัดตั้งเป็นธนาคารอาหารชุมชน Food Bank ขึ้นมา ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถมีรายได้ต่อเนื่อง ทั้งหน้าฝน ทั้งหน้าหนาว เกษตรกรสามารถปลูกผักได้ตามฤดูกาล ช่วงฤดูหนาวเกษตรกรจะปลูกผักเมืองหนาว เช่น กะหล่ำหัวใจ กะหล่ำดอก บร็อกโคลี ฤดูฝนเกษตรกร จะปลูกฟักทอง ฟักทองข้างโต๊ะ ฟักทองญี่ปุ่น ถั่วฝักยาว ถั่วแขก คะน้าฮ่องเต้ กวางตุ้ง ปลูกอยู่ในโรงเรือน และงดใช้สารเคมี ซึ่งได้รับองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิตจากสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน แนะนำในการใช้ปุ๋ยหมัก พด.1 น้ำหมัก พด.2 และเทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ในการปลูกพืชผักให้มีความอุดมสมบูรณ์สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร.