เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ ทดลองเล่นบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” ด้วยความสนุกสนาน พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในจังหวัด
กว่าจะออกมาเป็นบอร์ดเกมชุดนี้ ศุภกร ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการออกแบบและพัฒนาชุดบอร์ดเกม “นักสืบของอดีต” และวริศ โดมทอง นักวิจัยด้านการพัฒนาเกม ใช้เวลานาน 18 เดือน สกัดองค์ความรู้จากโครงการวิจัยเรื่อง “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตรทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน” ของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ
จากนั้นตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ความสนุก และรูปแบบต้องโดนใจคนเล่น รวมทั้งทดสอบเล่นในกลุ่มนักวิจัยและเยาวชนชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ ล่าหู่ดำ ม้ง ลีซอ ปกาเกอะญอ ละเว๊อะ และคนเมือง
บอร์ดเกมนำผลงานวิจัยที่ซับซ้อน ทำให้เข้าถึงคนได้ตั้งแต่อายุ 6-70 ปี
ชุดบอร์ดเกมมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน คือ เกมนักสืบชาติพันธุ์ ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างเด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์กับคนในเมือง เช่น กรุงเทพฯ
ปริศนาโลงไม้ สร้างความเข้าใจและความรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมโลงไม้ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อ.ปางมะผ้า ที่มีอายุถึงกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ให้เข้าใจคนในอดีตว่ากว่าจะได้โลงไม้ 1 โลง ไม่ใช่เรื่องง่าย
นักสืบของอดีต ส่งเสริมทักษะในการสืบค้นเรื่องราวของคน สังคม และวัฒนธรรมในอดีต ด้วยกระบวนการทางโบราณคดี มุ่งให้เกิดความตระหนักรู้ สร้างกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา
ศุภกร บอกว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสื่อสารงานวิจัยที่ซับซ้อน นำไปสู่การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านกลไกของเกมกระดาน เป็นนวัตกรรมขนาดพกพา หากเล่นก่อนการท่องเที่ยวจริงก็จะช่วยให้เข้าใจบริบทของพื้นที่ สร้างกลุ่มท่องเที่ยวมูลค่าสูง
ที่สำคัญต้องการให้บอร์ดเกมดังกล่าวเข้าถึงนักเรียนที่ไม่มีโอกาส นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือโรงเรียนที่ห่างไกล หวังลดความเหลื่อมล้ำด้วยสื่อการเรียนรู้ เพราะส่วนใหญ่กลุ่มผู้เล่นจะเป็นคนเมือง หรือเด็กในกรุงเทพฯ
ในไทยยังไม่เคยนำวิชาประวัติศาสตร์มาทำเป็นบอร์ดเกม จึงถือเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ แตกต่างจากการอ่านหนังสือและท่องจำ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงที่ได้เล่น เด็กก็จะรู้แหล่งโบราณคดีที่สำคัญของโลงไม้
ศ.ดร.รัศมี เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และที่ปรึกษาโครงการวิจัยบอร์ดเกม บอกว่า บอร์ดเกมทำให้เราได้วางโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับเล่น คุย หัวเราะ สงสัย อยากรู้ สนทนา วิเคราะห์ รวมทั้งได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน เพราะเกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนหลายกลุ่มหลายวัย
ขณะนี้ผลงานได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่น่าเสียดายที่การผลิตต้นแบบที่ทำเสร็จสิ้นยังเป็นเพียง “โบราณวัตถุ” ที่ไม่สามารถจะต่อยอดไปสู่การผลิตจำนวนมาก เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจที่อยากมีเกมที่ผลิตโดยคนไทยได้เล่น หรืออยากเก็บสะสม รวมทั้งแจกให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจร่วมส่งเสริมต่อยอดให้ผลงานของคณะวิจัยได้ส่งต่อให้กับเยาวชนต่อไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในอดีตบนดินแดนประเทศไทย