- วัชชิรานนท์ ทองเทพ & สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี
- บีบีซีไทย
สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาหลังกองทัพทำรัฐประหารในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเมียนมาแล้ว นักธุรกิจไทยในเมียนมาก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากซ้ำสอง หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว
ผู้ประกอบการชายแดนไทย-เมียนมาใน จ. แม่ฮ่องสอนระบุว่ามูลค่าการส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง 30% และอาจไม่ขยายการลงทุนเพิ่มในเขตนิคมอุตสาหกรรมในนครย่างกุ้ง หลังนักลงทุนญี่ปุ่นบางส่วนถอนตัวกลับประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้นักธุรกิจไทยหลายคนหวังว่าจะได้เห็นสัญญาบวกจากการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา และหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะไปร่วมประชุมด้วย นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้ายึดอำนาจเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา
คาดว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี
ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย โดย นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าจากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในเมียนมามากว่า 30 ปี ถือว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้รุนแรงที่สุด ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มาแล้วเป็นเวลากว่าหนึ่งปี
“ธุรกิจได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมดทุกภาคส่วน เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มมีการเดินขบวนประท้วงอารยะขัดขืน ของกลุ่ม CDM (Civil Disobedience Movement) ได้มีการเชิญชวนพนักงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมในการประท้วงรัฐบาลใหม่ด้วย” นายกริชระบุ
เขาขยายความว่า การประท้วงต่อเนื่องทำให้การสัญจรไม่สะดวก มีการปิดเส้นทาง อีกทั้งไม่มีความปลอดภัย ทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่เปิดทำการ ธุรกิจต่าง ๆ ก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ อีกทั้งการขนส่งมีปัญหา การส่งมอบสินค้าไม่สามารถจัดการได้ จึงทำให้ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น
ด้านนายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก ซึ่งทำธุรกิจกับเมียนมามาตลอด 30 ปี บอกว่า ผลกระทบทั้งต่อการลงทุนในเมียนมาและการค้าชายแดนถือว่า รุนแรง และน่ากลัวมากที่สุด
“พวกเราไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในระบบประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ย้อนกลับไปหาอดีตอีก ” นายสุชาติกล่าว
เขาเสริมว่า การลงทุนและความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนหายไป ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนยังทำให้ขาดแคลนแรงงาน ทำให้การผลิตสินค้าส่งออกสะดุดลง
ขาดแรงงาน กำลังการผลิตลดฮวบ
คนไทยเจ้าของโรงงานเสื้อผ้าในนครย่างกุ้งผู้ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลทางด้านธุรกิจ บอกกับบีบีซีไทยว่า โรงงานของเขาทำเสื้อผ้ากีฬาส่งออกไปตลาดยุโรปมาแล้ว 8 ปี ได้รับผลกระทบไม่น้อยนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 มาจนถึงความวุ่นวายทางการเมือง
การระบาดของโควิดทำให้โรงงานต้องจัดผังการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคของทางการเมียนมาโดยต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างจุดทำงานของพนักงาน ทำให้กำลังการผลิตต้องลดลงราว 20-25% จากปกติ 150,000 ตัวต่อเดือน
ส่วนการชุมนุมประท้วงทำให้การบริหารจัดการพนักงานกว่า 1,400 คนในโรงงานเป็นเรื่องท้าทาย พนักงานส่วนใหญ่เข้าร่วมกระบวนการอารยขัดขืนอีก ทำให้กำลังการผลิตหายไปช่วงหนึ่ง สถานการณ์ของโรงงานดีขึ้นหลังการปราบปรามจากภาครัฐ
“นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาสถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่ลายลงหลังทางการปราบปรามกลุ่มผู้ออกมาชุมนุมอย่างหนัก ทำให้ชาวเมียนมาบางส่วนกับมาทำงานแต่กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นมาระดับหนึ่งเท่านั้นหรือราว 60% แต่รายได้หายไป 40% ก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน” นักธุรกิจรายนี้กล่าว
เขาหวังว่า การประชุมที่จาการ์ตา จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
“เราก็อยากรู้ว่าจะเดินไปทางไหนต่อได้ ในตอนนี้มีหลายกระแส บ้างก็ว่าทหารยึดอำนาจนาน บ้างก็ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ผมก็หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ไม่เช่นนั้นหากมีผลต่อการทำธุรกิจ ก็ต้องทบทวนเรื่องการลงทุนในอนาคต” เขากล่าว
คนไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมา
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุในรายงานเมื่อ มี.ค. ถึงมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา (Special Economic Zone: SEZ) ว่ามีมูลค่าคงเหลือ 1,382.485 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 41,460 ล้านบาท โดยมาจากประเทศผู้ลงทุนหลัก 5 อันดับ ได้แก่
1) ญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการลงทุน 447.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 14,016 ล้านบาท คิดเป็น 32.36%
2) สิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 415.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13,015 ล้านบาท คิดเป็น 30.05%
3) ไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน 175.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,267 ล้านบาท คิดเป็น 12.70%
4) เกาหลีใต้ ด้วยมูลค่าการลงทุน 96.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,018 ล้านบาท คิดเป็น 6.97%
5) ไต้หวัน ด้วยมูลค่าการลงทุน 63.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,983 ล้านบาท คิดเป็น 4.58%
Please activate Javascript
การค้าชายแดนลดลงอย่างน้อย 30%
บรรยากาศการค้าชายแดนไทย-เมียนมาตามด่านสำคัญก็ดูซบเซา โดยเฉพาะที่อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีด่านพรมแดนไทย-เมียนมา(แม่สอด-เมียวดี) 2 แห่ง เชื่อมโยงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ถือว่า เป็นด่านพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยด้วยมูลค่าการส่งสินค้าออกไปเมียนมาสูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี
ทว่า นับแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-9 มาจนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในเมียนมาและพ่อค้าส่งสินค้าออกไปชายแดนทุกด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ทำให้มูลค่าการซื้อขายการส่งออกสินค้าไปประเทศเมียนมา ลดลง 30%
นายสุชาติ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก และนักธุรกิจส่งออกสินค้าอุปกรณ์การเกษตรไปเมียนมา บอกว่า แม้ว่าสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมาในขณะนี้สามารถดำเนินการไปได้บ้างแล้ว แต่มูลค่าการส่งออกกลับลดลงไป 30% จากเดิมช่วงปกติมูลค่าการส่งออกเดือนละ 7,000 ล้านบาท
ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา ที่ทำให้ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจขาดความมั่นใจต่อการค้า การลงทุน การใช้จ่าย และส่งผลให้ค่าเงินเงินจ๊าดตกต่ำลง เป็น 100 จ๊าด เท่ากับ 2.12 บาท จากเดิมที่ 100 จ๊าด เท่ากับ 2.30 บาท และเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่ากับ 1,600 จ๊าด จากเดิม 1,300 จ๊าด ก่อนรัฐประหาร
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-เมียนมาในช่วง 2 เดือนแรกในปีนี้ (ม.ค. – ก.พ. 2564) มีมูลค่าการค้ารวม 1,091.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 32,732 ล้านบาท ลดลง 12.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไทยมีการส่งออกไปยังเมียนมาเป็นมูลค่า 649.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 19,490 ล้านบาท ลดลง 15.16% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการคุมเข้มการเข้าออกด่านชายแดนและจุดผ่อนปรนทางการค้าหลายจุด
ต่างชาติชะลอการลงทุน
นับตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมา นอกจากชาติมหาอำนาจจะออกมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำกองทัทแล้ว บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมาหลายชาติก็พิจารณาทบทวนแผนการลงทุน หรือไม่ก็ชะลอการลงทุนไปแล้ว
เว็บไซต์นิเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อ 13 เม.ย. ว่า โตโยต้า บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ได้ประกาศชะลอการเปิดโรงงานที่เขตนิคมอุตสาหกรรมติละวา ใกล้กับนครย่างกุ้ง จากแผนเดิมที่จะเปิดในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ ซูซูกิ ที่ชะลอการก่อสร้างโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานเมื่อ 11 มี.ค. ว่า บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศชะลอแผนลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน-แอลพีจีในเมียนมา
นายสุชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทคูโบต้าของญี่ปุ่นในเมียนมา บอกว่า ญี่ปุ่นได้ลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมติละวาแล้ว และได้เปิดจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร โดยมีการเปิดโชว์รูมรถแทรกเตอร์ ไว้ 3 สาขาในเมียนมา และมีร้านอาท์เล็ต 3 แห่ง มีพนักงานกว่า 100 คน แต่ขณะนี้ไม่มีงานเลย ธุรกิจลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น
“เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารต้องกลับประเทศไทยร่วม 1 ปีแล้ว เพราะการระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา และพนักงานอีก 30 คน ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไปก่อน และต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมติละวานั้น ต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวและผู้บริหารจากประเทศญี่ปุ่นได้กลับประเทศไปแล้ว” เขาอธิบาย
สำหรับตัวเขาเองที่ทำธุรกิจการค้าชายแดนมานานกว่า 30 ปี มีการลงทุนธุรกิจในธุรกิจเครื่องมือเกษตรในเมียนมา 10 ปี นายสุชาติเล่าว่า ตัวเขาและเพื่อนนักธุรกิจหลายคนจะไม่เพิ่มเม็ดเงินลงทุนในเมียนมาอีกต่อไป แต่จะประคองธุรกิจที่มีอยู่ให้รอดก่อน
ส่วนความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น นายสุชาติเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะ “คนที่จะไปกู้เงินจากธนาคารก็แย่อยู่แล้ว ทางธนาคารคงไม่ให้ด้วยเพราะมีความเสี่ยงเหมือนกัน”