(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) พาณิชย์เดินหน้าพัฒนาแม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ชูจุดแข็งแหล่งน้ำแร่โคลน 1 ใน 3 ของโลก มั่นใจเพิ่มรายได้ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ภูสิต รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ บอกถึงความคืบหน้าโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการยุคใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการค้าและบริการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากไทย ว่า สนค. ได้ศึกษาและจัดระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากคัดเลือกจังหวัดระนองและแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดต้นแบบ ในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและต้นแบบบริการ โดยใช้จุดแข็งของ “น้ำแร่ร้อน” เป็นตัวชูโรง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
โดยตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจบริการสุขภาพและเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการยุคใหม่ Wellness Hub จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ร่วมเป็นคณะทำงาน
แนวทางดำเนินการจะชูจุดแข็งของจังหวัดด้วย Health and Eco Tourism Hot Spring หรือ บริการดูแลรักษาสุขภาพด้วยน้ำแร่ร้อน ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อยกระดับแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมืองสุขภาพชั้นนำของภาคเหนือตอนบน
จังหวัดแม่ฮ่องสอนสามารถนำจุดเด่นด้านน้ำพุร้อนมาผสมผสาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจรได้ โดยแหล่งน้ำแร่ภูโคลน เป็นแหล่งน้ำแร่และโคลนธรรมชาติที่มาจากสายน้ำแร่ใต้พื้นดิน มีคุณสมบัติเป็นโคลนบำบัด มีแร่ธาตุทัดเทียมกับแหล่งน้ำแร่โคลนชั้นนำของต่างประเทศ ซึ่งพบได้เพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้น ได้แก่ ทะเลสาบ DEAD SEA ในประเทศอิสราเอลและจอร์แดน แหล่งโคลนจากลาวาภูเขาไฟหรือโคลนจากภูเขาไฟในประเทศโรมาเนีย และโป่งเดือดแม่สะงา หรือภูโคลนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ น้ำพุร้อนผาบ่อง น้ำพุร้อนท่าปาย น้ำพุร้อนธรรมชาติป่าอนุรักษ์ไทรงาม น้ำพุร้อนเมืองแปง น้ำพุร้อนหนองแห้ง และน้ำพุร้อนแม่อุมลอง สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งน้ำพุร้อนไปยังชุมชน เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในรีสอร์ท และเปิดให้บุคคลภายนอกซื้อบัตรเข้าใช้บริการ รวมทั้งมีบริการนวดเท้า นวดไทย นวดน้ำมัน และนวดขัดผิว ซึ่งจะต้องผลักดันให้แรงงานในชุมชนมีทักษะบริการเพื่อให้มีการจ้างงานในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ต่อเนื่องกับห่วงโซ่ของ Wellness และพัฒนาทักษะผู้ประกอบการให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย