- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ผ่านมา 3 วัน หลังเหตุการณ์ขับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพวก พ้นจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สถานการณ์การเมืองยังพลิกผัน เมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวจากสมาชิกในกลุ่ม 21 ส.ส.
คนหนึ่งคือ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรค ขอให้ทบทวนมติพรรคเรื่องการขับออก โดยอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง-ไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ กับการเสนอปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ของ ร.อ. ธรรมนัส และไม่ประสงค์จะย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กับกลุ่มของ “ผู้กองธรรมนัส”
อีกคนคือ วัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฎีการับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือ “แจกใบเหลือง” จากกรณีหัวคะแนนจ่ายเงินจูงใจเลือกตั้ง
บีบีซีไทยสนทนากับ 3 จากกลุ่ม 21 ส.ส. ที่ถูกขับพ้นพรรค ประกอบด้วย ปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน, พรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร และ สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี ตั้ง 9 คำถาม ให้พวกเขาตอบแบบต่างกรรมต่างวาระ
1. “เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรค”
“ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ และเสถียรภาพของพรรค” คือเหตุผลที่ทำให้ที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส. ของ พปชร. มีมติเมื่อ 19 ม.ค. เห็นชอบให้ 21 ส.ส. พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค ตามคำชี้แจงของ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. ต่อสาธารณะ
ไพบูลย์ ระบุว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคไม่สามารถดำเนินการให้ได้ จึงต้องขับ ร.อ. ธรรมนัส กับพวก ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ตามข้อบังคับ พปชร. ข้อ 54 (5)
ตลอดการแถลงข่าว ไพบูลย์ ไม่ได้พาดพิงถึงรายชื่อหรือพฤติกรรมของ ส.ส. อีก 20 คน ทว่าคำแถลงแบบเหมารวม ทำให้นักการเมืองที่ถูกขับพ้น พปชร. ถูกมองว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรค” หรือไม่
ปัญญา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าไพบูลย์เอาข้อมูลจากที่ไหนมา
“แก (ไพบูลย์) ก็คงอยู่อีกฝ่ายหนึ่งที่จะดิสเครดิต (ทำลายความน่าเชื่อถือ) กลุ่มที่ผมเข้ามา แต่บางอย่างอาจไม่ถึงขนาดนั้น” และ “ผมก็ต้องไปอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่าเราไม่ได้ทำขนาดนั้น”
ส่วนคำอธิบายของ พรชัย คือ ผู้บริหาร พปชร. ได้ขับ 21 ส.ส. ออกจากพรรค เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพรรค พรรคเล็งเห็นว่าถ้าอยู่ไปเรื่อย ๆ จะเกิดความขัดแย้งภายในรุนแรงขึ้น แล้วพรรคก็จะตกต่ำลง จึงแยกทางจากกันไปด้วยดี
“ถ้ายังอยู่ร่วมกัน ผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าไร ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวาย สู้ออกมาทั้งหมดเลย จะได้ทำให้ พปชร. ดีขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่ง ณ เวลานี้ถือว่า พปชร. มีความสงบเรียบร้อยดีแล้ว” พรชัย ให้ความเห็น
ทั้งพรชัย และสมาชิกกลุ่ม 21 ส.ส. อีกคนอย่าง สะถิระ ไม่คิดว่าข้อกล่าวหาว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรค” จะกลายเป็นตราบาปทางการเมืองของตัวเอง
อย่างไรก็ดีพวกเขาไม่ได้อธิบายขยายความว่าข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ที่ถูกอ้างถึงนั้น มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และสร้างผลกระทบต่อ พปชร. อย่างไร โดยบอกเพียงว่าการถูกขับพ้นพรรคเป็นเรื่องการเมือง
“การถูกขับออกเป็นเรื่องการเมือง แต่ผมไม่ได้มาเล่นการเมือง ผมมาทำงานการเมือง ให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่าตัวอักษร และพยายามแยกการเมืองออกจากการช่วยเหลือประชาชน” สะถิระ ผู้เป็น ส.ส. สมัยแรกกล่าว และแสดงความเชื่อมั่นว่าประชาชนชาว อ.สัตหีบ รู้ดีว่าเขาทำงานการเมืองแบบไหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งปี 2562 ประชาชนบางส่วนเลือก พปชร. เพราะคำขวัญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เมื่อจู่ ๆ กลุ่ม 21 ส.ส. มา “ทิ้งลุงตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นนายกฯ ในบัญชีของ พปชร. ไป จำเป็นต้องชี้แจงกับประชาชนอย่างไร
“เราไม่ได้ทิ้ง ‘ลุงตู่’ ยังไม่มีใครบอกเลยว่าจะทิ้งท่าน แม้เราอยู่คนละพรรค แต่ก็เป็นสายเลือดของ พปชร. ท่านประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร.) ก็ยังดูแลอยู่ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องช่วยเหลือรัฐบาล เราก็ยินดีช่วยเสมอในทางที่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลไม่ทุจริต เราก็ยังช่วย เพราะเรายังอยู่เป็นทีมงานของท่านประวิตร” พรชัย ซ้อมอธิบายกับชาวพิจิตรผ่านบีบีซีไทย
เช่นเดียวกับ สะถิระ ที่บอกว่าพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ พล.อ. ประยุทธ์
“ผมเคารพท่านนายกฯ เหมือนเดิม เพราะท่านเก่งและซื่อสัตย์” ส.ส. หนุ่มกล่าว
ส่วน ส.ส. วัย 82 ปีอย่าง ปัญญา ไม่คิดว่าต้องชี้แจงเรื่องนี้กับประชาชน เพราะคิดว่าประชาชนคงเข้าใจว่า “ลุงตู่” ทำงานมาตลอด และผลงานจะปรากฏให้เห็นเอง
3. ความสัมพันธ์กับ ร.อ. ธรรมนัส
เมื่อไถ่ถามถึงความสัมพันธ์กับ ร.อ. ธรรมนัส ว่าแนบแน่นในระดับไหน ถึงกล้าเดินออกจากพรรคแกนนำรัฐบาล แล้วเป็นสมาชิกพรรคเกิดใหม่
คำตอบของทั้ง 3 นักการเมืองน่าสนใจตรงที่พวกเขา “ไม่คุ้นเคย” กับ “ผู้กองธรรมนัส” มากนัก แต่ตัดสินใจเพราะ “นายพล” คนอื่น
พรชัย เล่าว่า เขาเข้ามาเป็นสมาชิก พปชร. ตามคำชักชวนของ พล.อ. ประวิตร และพอได้เป็น ส.ส. ก็อยู่ในความดูแลของนายพลรายนี้มาโดยตลอด
“ไม่มี ส.ส. คนไหนไม่ขึ้นตรงกับท่านประวิตร แต่ต่อมาก็มีท่านอดีต รมต.ธรรมนัส มาช่วยดู”
ส่วน สะถิระ ตัดสินใจเปลี่ยนต้นสังกัดเพราะ พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์ พปชร. นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 11 (ตท. 11) ที่มีข่าวถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ต้นสังกัดใหม่ของกลุ่ม 21 ส.ส. เป็น “เพื่อนพ่อ”
“เวลามีงานรวมรุ่นของคุณพ่อ ก็จะมีโอกาสเจอท่านวิชญ์ ผมยังไม่มีโอกาสสัมผัสท่านในแง่ของการทำงานการเมือง แต่โดยบุคลิกของท่านก็เป็นคนนิ่ง ๆ” นักการเมืองวัย 41 ปี ผู้เป็นบุตรชายของ พล.ร.ท. จำรัส เผือกประพันธุ์ กล่าว
เขายอมรับว่า ไม่คุ้นเคยกับ ร.อ. ธรรมนัส มากนัก แต่เท่าที่เคยทำงานร่วมกัน คิดว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานเพื่อประชาชน และให้ความช่วยเหลือ ส.ส. ในพรรคทุกคน
เช่นเดียวกับ ปัญญา ที่ไม่รู้จักกับ ร.อ. ธรรมนัส เป็นการส่วนตัวมาก่อน มาเจอกันที่ พปชร. เห็นว่าทำงานร่วมกันได้ จึงทำกิจกรรมการเมืองร่วมกันมาแต่ต้น โดยเห็นว่าเป็นคนมีความตั้งใจ เข้มแข็ง มีบุคลิก น่าจะนำพาบ้านเมืองไปได้
4. การสนับสนุน และ “ธรรมนัสสไตล์”
หนึ่งวันหลังถูกขับพ้นพรรค ร.อ. ธรรมนัส เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 3.27 นาที ที่ทีมงานของเขาเป็นผู้จัดทำขึ้นเองผ่านเฟซบุ๊กของเขา เนื้อหาตอนหนึ่งเป็นการแสดงความเป็นห่วง “บ้านเก่า” และ “เพื่อนร่วมพรรคเก่า”
“ส่วนใหญ่แล้วที่ ส.ส. ไปลงพื้นที่ก็ได้รับการสนับสนุนจากพี่ (ร.อ. ธรรมนัส) ทั้งนั้น 80% จากพี่กับหัวหน้าพรรคทั้งนั้น หลังจากไม่มีเราแล้ว ใครจะทำให้เขา ใครจะดูแลเขา” ร.อ. ธรรมนัสกล่าวเมื่อ 20 ม.ค.
สำหรับคำว่า “การสนับสนุน” ที่หลุดจากปากอดีตเลขาธิการ พปชร. ได้รับการอธิบายโดย 3 ส.ส. ว่าหมายถึง “บารมี” “การออกช่วยหาเสียง” และ “ผลงาน” โดยเฉพาะช่วงที่ ร.อ. ธรรมนัสดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถือเป็น “ธรรมนัสสไตล์”
ทุกคนปฏิเสธว่าไม่ได้หมายถึงเงิน ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานการเมืองแต่อย่างใด
“ไม่ใช่เลยนะครับ ผมเป็นนักธุรกิจ ทุกวันนี้คุณแม่ก็สนับสนุน คุณแม่บอกเป็นเหมือนการช่วยเหลือสังคม” สะถิระ ยืนยันว่าใช้เงินตัวเองและครอบครัวทำกิจกรรมการเมือง
5. “กบฏล้มนายกฯ”
ถึงแม้วันนี้ผู้แทนฯ บางส่วนจะตัดสินใจล่มหัวจมท้ายกับ ร.อ. ธรรมนัส ทว่าพวกเขาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความเคลื่อนไหวในอดีต ภายใต้แผน “กบฏล้มนายกฯ” ในระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านเมื่อปี 2564
“ผมไม่ได้โหวตคว่ำ ไม่เคยคิดเลยนะครับด้วยความเคารพ เพราะมองว่าท่านนายกฯ มีความซื่อสัตย์” สะถิระ ยืนยัน
“การที่เราเป็น ส.ส. ร่วมในรัฐบาล จะไปรวมตัวกันล้มนายกฯ ได้ยังไง มันไม่จริงเลย” พรชัย กล่าว
ปัญญา ก็เป็นอีกคนที่ยืนกรานว่าการถูกขับพ้นพรรคเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่อาจเชื่อมโยงกับข่าวที่ปรากฏในอดีตได้
เช่นเดียวกับกระแสข่าวรวมกลุ่มกันกดดันให้มีการปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/5” ต่อรองเอาเก้าอี้รัฐมนตรีกลับคืนมา หลังจาก ร.อ. ธรรมนัส ถูกปลดพ้นตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ เมื่อ 8 ก.ย. 2564 ซึ่งทั้ง 3 ส.ส. ระบุตรงกันว่า “ไม่มี” และ “ไม่ได้ยิน” ว่ามีใครพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมเมื่อ 19 ม.ค. ตามที่สื่อบางสำนักรายงานข่าว
6. “กบฏ 19 มกรา”
ไม่ว่าคนการเมืองที่ออกจาก พปชร. พร้อม ร.อ. ธรรมนัส จะรับรู้เบื้องลึก-เบื้องหลังของการเดินเกม “ขับตัวเองพ้นพรรค” เมื่อ 19 ม.ค. มากน้อยแค่ไหน แต่การเปิดชื่อ-เปิดตัวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส” ย่อมทำให้พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งสมญา “กบฏ 19 มกรา”
“ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ไม่อยากพูด คำว่า ‘กบฏ’ มันรุนแรงนะ ใช้กับเผด็จการ ในสภาเราไม่ถึงกับเผด็จการ เราอยู่ในสภาปกติ แต่เรารักษากฎกติกาไม่ได้” ปัญญา รับรู้ถึงมุมมองจากบุคคลภายนอกที่มีต่อกลุ่ม 21 ส.ส.
สะถิระ ยอมรับว่า “รู้สึกไม่ดี” กับสมญาที่ได้รับ และ “เสียใจ แต่ต้องปล่อยผ่าน”
“ผมมาอยู่การเมือง เราไปสนใจตัวหนังสือมากไม่ได้ เพราะจะทำให้เราหมดกำลังใจ ถ้ามีความเข้าใจผิด เราต้องแก้ไข ต้องอดทน และเอาการกระทำเป็นหลัก ถ้าอ่านข่าวทุกวัน เจอแต่เรื่องไม่ดี มันทำให้เราท้อใช่ไหมครับ ซึ่งเวลาท้อ ผมก็จะหากำลังใจด้วยการออกไปเยี่ยมประชาชน ไปพบผู้ป่วย ผู้ยากไร้ที่ลำบากกว่าเรา ต้องผ่านไปให้ได้” เขาบอก
ต่างจาก พรชัย ที่ “ไม่รู้สึก” อะไรกับสมญา “กบฏ” เพราะคิดว่าเป็นการจากกันด้วยดี ไม่ได้ทะเลาะ หรือมีศัตรูที่ พปชร.
“ที่เขาบอกว่าโดนขับ มันเป็นกติกาของ กกต. และข้อบังคับพรรคที่ต้องเขียนคำนี้ขึ้นมา ซึ่งมันรุนแรง แต่จริง ๆ วันเสาร์นี้ (22-23 ม.ค.) ผมกลับบ้าน มีชาวบ้านขอมาแสดงความยินดีและมาให้กำลังใจ แต่ผมเบรกไปว่าอย่าเพิ่งมา ๆ เพราะโควิดยังแดง (แพร่ระบาดหนัก) อยู่” ส.ส.พิจิตร ระบุ
7. ชัยชนะของใคร
นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองส่วนหนึ่งชี้ว่า การขับ 21 ส.ส. พ้นพรรค ถือเป็นชัยชนะของฝ่าย ร.อ. ธรรมนัส เพราะยังรักษาสถานภาพความเป็น ส.ส. เอาไว้ได้ อีกทั้งยังมีอิสระในการเคลื่อนไหว และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น
ทว่าในทัศนะของ ปัญญา-สะถิระ-พรชัย ไม่ได้คิดว่าใครแพ้ ใครชนะ
“เราไม่ได้พูดถึงเรื่องแพ้-ชนะเลยนะ ในเมื่อความคิดเห็นการเมืองไม่ตรงกัน เราก็ต้องแยกกลุ่มออกมา” พรชัย กล่าว
“ผมไม่ได้คิดว่าแพ้หรือชนะ คิดว่าจะทำยังไงให้สภาอยู่ได้ในกฎเกณฑ์ เมื่อเราเดินมาทางนี้แล้ว” ปัญญา ผู้เป็น ส.ส.แม่ฮ่องสอน 5 สมัย กล่าวและว่า การออกจาก พปชร. ของ 21 ส.ส. จะกระเทือนต่อสภาเหมือนกัน
แต่ถึงกระนั้นทั้ง 3 ส.ส. ยืนยันว่ายังเข้าร่วมประชุมสภาตามปกติ และได้รับการจัดการอี้ให้นั่งอยู่ในซีกรัฐบาล
สำหรับกลุ่ม 21 ส.ส. ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต 17 คน และ 4 ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมี 3 คนที่เป็นอดีตกรรมการบริหาร พปชร. อย่างไรก็ตามเมื่อหัก 2 เสียงจาก วัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ที่ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีถูก กกต. แจกใบเหลือง และ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ระบุว่าถูกแอบอ้างชื่อว่าร่วมกระทำการให้เกิดเหตุร้ายแรงแก่ พปชร. ทำให้ฝ่าย ร.อ. ธรรมนัส เหลือมือที่นับได้ 19 คน
ปัจจุบันรัฐบาลผสม 17 พรรค มีเสียงในสภาอยู่ 266 เสียง เมื่อหักกลุ่มของ ร.อ. ธรรมนัส 19 เสียงออกไป ทำให้เหลือเสียงในสภา 247 เสียง นั่นเท่ากับว่าเกินองค์ประชุมเพียง 10 เสียงเท่านั้น (องค์ประชุม 237 เสียง จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 เสียง) เข้าสู่ภาวะ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายค้านมีอยู่ 208 เสียง
8. “หัวหน้าป้อม” กับ “ว่าที่หัวหน้าวิชญ์”
การถูกขับพ้น พปชร. ทำให้กลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส ต้องขาดจากการเป็นลูกพรรคของ “นายป้อม” หรือ พล.อ. ประวิตร ในทางนิตินัย แต่สมาชิกกลุ่ม 21 ส.ส. มองว่า พล.อ. ประวิตร ยังเป็นหัวหน้าอยู่เสมอ
ปัญญา: “ท่านยังเป็นหัวหน้าเสมอ ท่านช่วยทุกคน เราก็ศรัทธาท่าน”
พรชัย: “ท่านเป็นเหมือน ‘ปู่’ (หัวเราะเล็ก ๆ) หลาน ๆ ต้องเคารพนับถือ เพราะเราคนไทย ยังไงลูกหลานต้องเคารพปู่ ย่า พ่อ แม่”
ส่วนความสัมพันธ์กับว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกจาก สะถิระ ที่คุ้ยเคยในฐานะ “หลาน” ปัญญา-พรชัย ตอบเพียงว่าเคยเจอ พล.อ. วิชญ์ อยู่ 2-3 ครั้งในระหว่างการประชุมพรรค พปชร.
9. บ้านหลังใหม่
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ส.ส. ที่ถูกขับออกจาก พปชร. จะย้ายเข้าไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ภายใน 30 วันตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ
เดิม ศท. มี ประสงค์ วรารัตนกุล เป็นหัวหน้าพรรค แต่ได้ลาออกตั้งแต่ 19 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ กก.บห. รวม 14 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
หลังจากนี้คาดว่า พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา จะเข้าไปรั้งเก้าอี้ผู้นำพรรคคนใหม่ แม้ขณะนี้เจ้าตัวจะยังไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิก พปชร. ก็ตาม แต่ก็มีการแจ้งให้กลุ่ม 21 ส.ส. รับทราบเป็นการภายในแล้ว
ในหนังสือขอความเป็นธรรมของ สมศักดิ์ พันธเกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ส่งถึงหัวหน้า พปชร. บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นภายในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อ 19 ม.ค. สรุปใจความสำคัญตอนหนึ่งได้ว่า หัวหน้าพรรคเป็นผู้แจ้งในห้องประชุมว่า ร.อ. ธรรมนัส จะลาออกจากพรรค แล้วย้ายไปอยู่ ศท. โดยให้ ส.ส. กลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส” ย้ายไปสังกัด ศท. ด้วย มีเจ้าหน้าที่นำใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่มาให้กรอกเสร็จสรรพ
หนังสือขอความเป็นธรรมของ ส.ส.โคราช ยังอ้างถึงโครงสร้างใหม่ของ ศท. ไว้บางส่วน
- หัวหน้าพรรค: พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
- เลขาธิการพรรค: อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
- ที่ปรึกษาพรรค: พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ. ประวิตร
แม้เป็นพรรคขวบเศษ เพราะเพิ่งก่อตั้งเมื่อ 7 เม.ย. 2563 แต่ ศท. เคยตกเป็นข่าวทางหน้าสื่อมาแล้วเมื่อปีก่อน หลังจาก ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ศท. จะเป็น “พรรคลุงฉิ่ง” อันหมายถึง ฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้มีชื่อเล่นว่า “ฉิ่ง” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกคาดหมายว่าจะก่อตั้งพรรคการเมืองสำรองเพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ท่ามกลางความแตกแยกภายใน พปชร.
คำถามที่เกิดขึ้นคือเหตุใดจาก “พรรคลุงฉิ่ง” ถึงแปรขั้วไปเป็น “พรรคเพื่อนลุงป้อม” ได้
พรชัย หัวเราะร่วน ก่อนตอบคำถามในเชิงเปรียบเปรยว่าร่างกายของคนเรามีเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยที่แตกแขนงกันไป ซึ่งสามารถหยิบขึ้นมาได้เลย
“พวกผมยังอยู่สายเลือดของท่านประวิตรเสมอ ในเมื่อท่านบอกไปให้ไปอยู่ตรงนี้ก่อน เมื่อผู้ใหญ่จัดให้ เราก็มีความสุข… ผมอยู่มาแล้ว 8 พรรค ก็ทำงานได้ตลอด ไม่มีปัญหา” พรชัย กล่าว
อดีตอาจารย์ที่ผันตัวมาลงเล่นการเมืองและได้เป็น ส.ส.พิจิตร สมัยแรก ย้ำด้วยว่า เมื่อเลือกเดินมาทางนี้แล้ว จะอย่างไรก็ตามแล้ว พปชร. กับพรรคใหม่ที่จะไปอยู่ยังเป็นครอบครัวเดียวกัน
“เพียงแต่เรามาอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง ทำกับข้าว ก็แบ่งสรรกันไป”
“ถ้าเราอยู่ในครอบครัวที่แตกแยก ก็ต้องไปสร้างบ้านใหม่ ลูก หลาน พ่อ แม่ ได้คุยเฮฮาปาร์ตี้ดีกว่า ส่วนกับบ้านหลังเดิม เราก็ยังเป็นเพื่อน เป็นญาติกันตลอด” พรชัย กล่าวทิ้งท้าย