นักพฤกษศาสตร์ค้นพบ ‘โสกเหลืองแม่เมย’ พืชชนิดใหม่ของโลก เมล็ดเป็นอาหารกินได้ ใช้ตำน้ำพริก เปลือกย้อมผ้าสีแดงสวยงาม แปลกออกดอกสีเหลืองตามลำต้น กระจายตามป่าดิบแล้ง-ดิบเขาสูง เฉพาะในท้องที่สบเมย แม่ฮ่องสอน-อมก๋อย เชียงใหม่ ทดลองเพาะขยายพันธุ์ปลูกให้นักท่องเที่ยวชม
วันที่ 2 ก.ย. นักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก โสกเหลืองแม่เมย (Saracathailandica) ในพื้นที่ป่า อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน หลังลงพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้านและสำรวจการใช้ประโยชน์จากพืชของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ต่อมาได้นำเมล็ดพันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อจะนำมาปลูกลงดินให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา และชมความสวยงามของโสกเหลืองแม่เมย ที่ออกดอกสีเหลืองอร่ามตามลำต้นสวยงามแปลกตา
สำหรับการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘โสกเหลืองแม่เมย’ ครั้งนี้ นายวิทยา ปองอมรกุล นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotanist) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้านและสำรวจการใช้ประโยชน์จากพืชของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ในการวิจัยในท้องที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้พบกับชาวบ้านชาติพันธุ์ชนกะเหรี่ยงกำลังนำฝักอ่อนของพืชวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฝักของพืชสกุลโสกน้ำโสกเหลือง หรือศรียะลา (Saraca) แต่ในขณะนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใด นำมาย่างไฟ เพื่อรับประทานเมล็ดภายในฝักทางคณะจึงได้สอบถามและทราบชื่อท้องถิ่นของพืชชนิดนี้ว่า ‘ตะนา’ (ภาษากะเหรี่ยง) นอกจากการนำฝักมาย่างไฟแล้ว ยังสามารถนำเมล็ดมาต้มและนำไปตำเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกรับประทานได้ด้วย นอกจากนี้เปลือกของต้นพืชชนิดนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีแดงสวยงาม
ต่อมา คณะวิจัยซึ่งประกอบด้วย นายวิทยา ปองอมรกุล, ดร.ประทีป ปัญญาดี, นายนัทธี เมืองเย็น นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา อินตา จากภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันศึกษาและตรวจสอบลักษณะของพืชชนิดนี้อย่างละเอียด จึงพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า SaracathailandicaPongamornkul, Panyadee&Inta หรือนามสกุลนักวิจัยที่ค้นพบครั้งนี้มีความหมายว่า พืชแห่งประเทศไทย เรียกชื่อไทยว่า “โสกเหลืองแม่เมย”
โสกเหลืองแม่เมยจะพบเห็นกระจายตามธรรมชาติบริเวณริมน้ำ ตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ที่ความสูง 1,000–1,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบันพบเฉพาะในประเทศไทย ในท้องที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แต่อาจมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเมียนมา เป็นพืชที่เหมาะแก่การปลูกสำหรับฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำในพื้นที่สูงอีกชนิดหนึ่ง นอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของพื้นที่ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์แล้ว เมล็ดยังสามารถนำมาเป็นอาหารได้อีกด้วย
นายวิทยา ปองอมรกุล นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เปิดเผยว่า สำหรับโสกเหลืองแม่เมย มีลักษณะแตกต่างจากโสกเหลืองทั่วไปคือ เกสรตัวผู้ของดอกจะมีประมาณ 7 อัน ส่วนเกสรดอกโสกเหลืองทั่วไปจะมีประมาณ 4 อัน หรือเท่ากับจำนวนของกลีบดอก นอกจากนี้ระยะการออกดอกจะต่างกัน โสกเหลืองแม่เมยจะออกดอกในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะออกดอกตามลำต้น ส่วนโสกเหลืองจะออกช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และจะออกดอกตามยอดใบ
“การค้นพบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัยเพื่อการขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวอีกว่า ในช่วงที่ทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัย มีโอกาสเก็บเมล็ดพันธุ์ของต้นโสกเหลืองแม่เมยจำนวนหนึ่งนำมาทดลองเพาะขยายพันธุ์ ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ได้เจริญเติบโตเป็นต้นกล้า มีอายุประมาณ 3 ปี โดยหลังจากนี้จะนำต้นกล้าต้นโสกเหลืองแม่เมยทั้งหมดนำมาเพราะปลูกในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาธรรมชาติ และชมความสวยงามของโสกเหลืองแม่เมย ที่ออกดอกสีเหลืองตามลำต้นสวยงามแปลกตาอีกด้วย.