วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2024

ผู้อพยพ : 33 ปีที่หนีทหารเมียนมามาอยู่ไทย เปิดใจสาวไทใหญ่-กะเหรี่ยง – บีบีซีไทย

  • เรื่องโดย ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย

ผู้อพยพ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นิดหน่อยลี้ภัยหนีสงครามจากบ้านของเธอในรัฐกะเหรี่ยงมาอาศัยที่ฝั่งไทย 31 ปีก่อนจะได้บัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

“เด็ก ๆ เอ้ย วิ่งเลย วิ่งลงหลุมเลย” นิดหน่อย หญิงเชื้อสายไทใหญ่-กะเหรี่ยง ย้อนรำลึกถึงเมื่อกว่า 30 ปีก่อนที่บรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเกิดของเธอในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตะโกนให้เด็ก ๆ มุดลงหลุมหลบภัยที่ชาวบ้านขุดไว้ เมื่อเครื่องบินของทหารเมียนมาบินอยู่เหนือหมู่บ้าน หรือ ได้ยินเสียงปืนหรือระเบิด

“เขาบอกให้เราลงหลุม ถ้าไม่ลงก็จะตาย” หญิงสาววัย 46 ปี ที่อยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 33 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย

ปัจจุบัน นิดหน่อย อาศัยอยู่ใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไมไกลจากแม่น้ำสาละวิน ความทรงจำวัยเด็กของเธอก็ย้อนกลับเข้ามาในห้วงความคิดของเธอ เมื่อได้ยินเสียงเครื่องบินหรือเสียงปืนในฝั่งเมียนมาที่ดังมาถึงบ้านพักของเธอฝั่งไทย

ความไม่สงบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นตั้งแต่ 27 มี.ค. เมื่อกองทัพเมียนมาเปิดการโจมตีทางอากาศบริเวณพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ชาวบ้านนับหมื่นคนต้องอพยพทิ้งที่อยู่อาศัย มุ่งหน้าข้ามป่าเขา และแม่น้ำสาละวิน เพื่อหาความปลอดภัยในฝั่งไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงอีกหลายพันคนต้องอาศัยใช้พื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินใกล้กับค่ายอิตุท่าเพื่อใช้เป็นสถานที่ลี้ภัยชั่วคราว

พวกเขาไม่ได้โชคดีเหมือนนิดหน่อยที่ได้ตั้งรกรากในฝั่งไทย

คำบรรยายวิดีโอ,

ชีวิตผู้ลี้ภัยสงครามระหว่างทหารเมียนมาและกองทัพกะเหรี่ยง

การเดินทางที่ยาวนาน

ด้วยภาวะการสู้รบ นิดหน่อยสูญเสียแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก พลัดพรากจากสมาชิกในครอบครัว ไม่เคยได้นอนอย่างสงบ เพราะต้องคอยเตรียมตัวหนีอยู่ตลอดเวลา เธอเล่าให้ฟังว่าตอนที่ยังอยู่ที่ฝั่งเมียนมา เธอต้องเตรียมหุงข้าวตั้งแต่บ่าย 2 จากนั้นก็เตรียมจัดของใส่ตระกร้าเอาไว้ หากได้ยินเสียงปืนหรือเครื่องบินของทหารเมียนมา ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็จะตะโกนให้ทุกคนหนีลงหลุมหลบภัย

พ่อของนิดหน่อยตัดสินใจทิ้งชีวิตที่อันตรายและมุ่งหน้ามายังประเทศไทย โดยบอกให้นิดหน่อยและพี่น้องของเธอให้ตามเขาไปหลังจากที่เขาได้สร้างหลักปักฐานแล้ว นิดหน่อยรอด้วยความอดทนและต้องคอยหลบหนีการโจมตีจากกองกำลังทหารเมียนมาจนวันหนึ่งที่เธออายุครบ 13 ปี พี่ชายของนิดหน่อยบอกให้เธอแล้วน้องชายของเธอเก็บของเพื่อเดินทางไปหาพ่อที่ประเทศไทย

“ตอนนั้นยังเด็กอยู่ แต่จำได้ว่าใช้เวลาเดินถึง 10 คืนผ่านทางลัดขึ้นภูเขา พวกเราต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตลอดทาง ระหว่างทางก็ได้เจอทหารพม่าอยู่แต่โชคดีที่เขาไม่เห็นพวกเรา ถ้าเขาเห็นพวกเราคงโดนยิงไปแล้ว” เธอย้อนความหลังที่จากบ้านเกิดมาด้วยเสื้อผ้าเพียง 3 ชุด

“ตอนช่วงที่เดินทางจะข้ามมาฝั่งไทยก็ค่ำไหนนอนนั่น นอนในป่าพักระหว่างทาง เจอทั้งฝน ทั้งอากาศร้อน ๆ ไม่สบายก็ต้องทนจนมาถึงฝั่งไทย สมัยนั้นพอมาถึงบริเวณอิตุท่า นั่งเรือข้ามแม่น้ำสาละวินมาฝั่งไทย จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ แต่พี่ชายพูดไทยได้เลยเจรจากับทหารและเขาก็ปล่อยให้เข้ามา แต่ตอนนั้นเดินทางมากันแค่ 3 คนเอง ทหารก็ไม่ได้ว่าอะไร ปล่อยให้เราเข้ามาได้เลย แต่ตอนนี้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน”

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

“จะอยู่ที่นี่และตายที่นี่”

หลังจากที่เธอย้ายเข้ามาอยู่กับพ่อของเธอที่บริเวณบ้านแม่สามแลบ คุณภาพชีวิตของเธอก็ดีขึ้นตามลำดับ เธอเล่าว่า เธอได้นอนหลับอย่างสงบเสียที จากแต่ก่อนที่ต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องมาคอยระแวง กินนอนได้เต็มอิ่มไม่ต้องมาคอยกลัวว่าทหารเมียนมาจะมาตอนไหนและต้องหนีเมื่อไหร่

ถึงแม้ว่าพี่น้องของนิดหน่อยอยู่ในฝั่งไทยทั้งหมดแล้ว แต่เธอยังมีญาติอีกหลายคนที่อาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ทันทีที่นิดหน่อยได้ยินข่าวว่าทหารเมียนมาเริ่มโจมตีชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง เธอก็รู้สึกเป็นห่วงมาก

“ญาติพี่น้องที่ยังอยู่ทางฝั่งนู้นก็ยังมี แต่วันนี้ติดต่อไม่ได้แล้ว ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้าง เป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ ที่อพยพหนีมาไทยก็ไม่รู้มีพวกเขาด้วยรึเปล่า เราไม่รู้ชะตากรรมของญาติพี่น้องเราเลย สงสารเขามาก เราจะช่วยเขาก็ไม่ได้ เราคิดจะข้ามกลับไปช่วยก็กลัวจะได้รับอันตราย” นิดหน่อยกล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.

“พอได้ยินข่าวก็ใจไม่ดีเลย สงสารพวกเขามาก ไม่รู้จะได้กินอะไรกันบ้างหรือเปล่า เราจะช่วยอย่างไรก็ไม่ได้ จะมีใครหนีออกมาได้ไหม จะตายไปแล้วหรือยัง เรานอนคิดแบบนี้ทุกคืนตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้น” ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนหน้า เธอยังติดต่อสื่อสารกับญาติผ่านไลน์ได้อยู่ แต่เมื่อเกิดเรื่องโจมตีทางอากาศ เธอติดต่อใครไม่ได้เลยและไม่แน่ใจว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ญาติของนิดหน่อยมักจะข้ามมาเยี่ยมเธอที่ฝั่งไทย และอาศัยอยู่กับเธอเป็นสัปดาห์ก่อนจะข้ามกลับไป ครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอญาติของเธอก็เป็นเวลาปีกว่าแล้ว ตอนนี้เธอไม่รู้ชะตากรรมของพวกเขา

“ตั้งแต่ย้ายมาก็ไม่ได้ข้ามกลับไปเลย ถ้ามีญาติหรือเพื่อนคิดถึงก็ให้พวกเขามาหาเราที่นี่ ส่วนตัวถ้าจะไปเที่ยวก็ไปเที่ยวที่แม่สะเรียงหรือไปเชียงใหม่ เราจะไม่กลับไปเมียนมาเด็ดขาด เราจะอยู่ที่นี่และจะตายที่นี่ จะให้ไปเที่ยวไปเยี่ยมญาติก็ไปได้แต่จะให้ย้ายกลับไปอยู่ก็ไม่ไปแล้ว”

ชีวิตใหม่ในฝั่งไทย

หลังจากที่ย้ายมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 นิดหน่อยเพิ่งได้บัตรประชาชนที่ตัวเลขหลักแรกเป็นหมายเลข 0 เมื่อปี 2561 ในขณะที่สามีของเธอได้รับบัตรประชาชนที่มีเลขหลักแรกเป็นหมายเลข 6 แต่ลูกของเธอทั้งสองคนที่เกิดที่นี่ได้รับสัญชาติไทยทั้งคู่

เว็บไซต์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่าตัวเลขหลักที่หนึ่งบนบัตรประชาชนเป็นตัวบ่งบอกประเภทของบุคคล ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามตัวเลขได้แก่

  • เลข 1 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดภายใน 15 วัน (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
  • เลข 2 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา 15 วัน (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
  • เลข 3 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ในสมัยเริ่มแรก (1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2527)
  • เลข 4 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก (1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2527)
  • เลข 5 ได้แก่ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ
  • เลข 6 ได้แก่ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย แต่จะอยู่ในลักษณะชั่วคราว
  • เลข 7 ได้แก่ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย
  • เลข 8 ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฏหมาย คือ ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว คนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย
  • เลข 0 ได้แก่ผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

นิดหน่อยบอกว่า ชีวิตในไทย แม้มีรายได้ไม่มากจากการปลูกพืชสวนครัว และรับจ้างตากใบไม้มาทำหลังหลังมุงบ้าน ส่วนสามีของเธอก็รับจ้างเก็บเห็ดถอบตามฤดูกาล และรับจ้างมุงหลังคาเพื่อประทังชีวิต แต่นิดหน่อยรู้สึกปลอดภัยกว่าในฝั่งไทย

“ตอนอยู่ฝั่งนู้นกินอยู่ลำบาก กินข้าวก็กินกับน้ำพริกผสมเกลือ เสื้อผ้ายังไม่มีเลย มีติดตัวมาแค่ 3 ชุด ทั้งชีวิต พอมาอยู่ฝั่งไทยมีแต่คนให้ความช่วยเหลือ บริจาคของให้เราได้มีชีวิตอยู่ได้ ดีใจมาก” นิดหน่อยกล่าว

“คนเหมือนกัน ทำไมต้องทำกันแบบนี้ด้วย”

เหตุการณ์โจมตีทางอากาศครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นบริเวณรัฐกะเหรี่ยงทำให้นิดหน่อยกลัวมากและทำให้เธอย้อนนึกถึงชีวิตในวัยเด็กของเธอ ทุกครั้งที่เธอได้ยินเสียงเครื่องบินบินมาใกล้ ๆ เธอจะมีอาการใจสั่น

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ได้ยินเสียงเครื่องบิน ก็ลุกขึ้นมาหุงข้าวเลย สามีถามว่าทำไมหุงข้าวเร็วเราก็บอกเลยว่าพม่ามาแล้ว เราต้องเตรียมตัว อย่างน้อย ๆ ถ้าเค้าจะยิงกันเรายังได้กินข้าวอิ่มท้องแล้ว จะได้มีแรงวิ่งหนี ถ้าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ก็จะหนีไปอยู่แม่สะเรียง ถ้าตำรวจจะจับก็จับไป แต่เราต้องปลอดภัย ถ้ามีระเบิดลงเราก็หนีก่อน” นิดหน่อยอธิบาย

เธอบอกว่าบ้านหลังที่เธออยู่ปัจจุบันในไทยเป็นบ้านหลังที่สามแล้ว โดยก่อนหน้านี้บ้านของเธออยู่ติดแม่น้ำสาละวิน แต่หมู่บ้านที่เธออยู่โดนลูกหลงจากการโจมตีกันของทหารเมียนมาและกะเหรี่ยง จนเป็นเหตุให้ไฟไหม้ทั้งหมู่บ้าน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ตอนที่ไทยปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง นิดหน่อยบอกว่าเธอรู้สึกว่าใจไม่ดีเลย แต่พอได้ยินว่าทางไทยอนุญาตให้ส่งอาหารไปได้ก็รู้สึกดีใจมาก

“ไม่รู้ว่าทำไมพม่าถึงอยากจะฆ่าเรา ตอนนั้นเรายังเด็กมาก จำได้แต่ว่าถ้าได้ยินเสียงปืนก็ต้องหนี เพราะถ้าเราหนีไม่ทัน พม่าก็จะยิงเรา กะเหรี่ยงก็จะยิงเรา พวกเราไม่รู้สาเหตุหรอกว่าทำไมแต่ผู้ใหญ่บอกเสมอว่าเห็นใครแต่งตัวแบบพม่าหรือกะเหรี่ยงก็ให้หนีไว้ก่อน”

จนถึงวันนี้ เธออยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ความกลัวคนเมียนมาก็ยังฝังใจอยู่

“ถ้าเราเห็นคนพม่าข้ามมาซื้อของที่ฝั่งแม่สามแลบเราก็กลัวแล้ว ต้องคอยหลบตลอด เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรเรา”

นิดหน่อยอ้อนวอนขอได้ก็อยากให้ทางฝั่งเมียนมาสงบและไม่ต้องยิงกัน เพราะมันส่งผลกระทบทั้งสองฝั่ง

“เราก็คนเหมือนกัน กินข้าวเหมือนกัน ทำไมต้องทำกับพวกเราแบบนี้ด้วย ถ้าทหารพม่าดีก็คงไม่มีใครหนีมาอยู่ฝั่งไทยกันหรอก เขาอยู่ทางนู้นเขาลำบาก ก็เลยขอหนีมาอยู่ฝั่งนี้” นิดหน่อยกล่าวทิ้งท้าย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน

หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.