บ้านปางคาม
“9 ปี แล้วสินะที่เราไม่ได้ผ่านมาทางนี้…” เส้นทางยังคงคดโค้งสูงชัน ไต่ระดับไปตามสันเขาราวกับเดินทางโลดแล่นไปบนสันหลังพญางูใหญ่ ทิวทัศน์สองข้างทางยั่วยวนชวนให้แอบชำเรืองมอง หากไม่ต้องประคองพวงมาลัยคงจะน่าพิสมัยให้สุขใจมากกว่านี้ ขึ้นๆ ลงๆ ภูเขาสูงอีกไม่กี่ลูกเราก็จะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง บ้านปางคาม พื้นที่หมู่ที่ 2 ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า สวยงามสุดแดนไทยชุมชนชาวไต จ.แม่ฮ่องสอน ( ปาง ในภาษาไทยใหญ่หมายถึง ที่พัก ส่วนคำว่า คาม หมายถึง ไร่ นา ที่เลี้ยงสัตว์)
ชาวไต หรือ บางท่านเรียกว่า ชาวไทยใหญ่ ส่วนชาวพม่าจะเรียกชาวไตว่า ชาน หรือ ฉาน ในอดีตเชื่อกันว่าชาวไตอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ตอนกลางของประเทศจีนดินแดนแห่งภูเขาสีทองและแม่น้ำสีฟ้างดงามน่าเดินทางไปค้นหา การเดินทางของชาวไตอันแสนยาวไกลผ่านเวลาเนิ่นนานผสานหล่อหลอมจนมีวัฒนธรรมเป็นของตน ซึ่งดูเหมือนว่าการเดินทางจะมาสิ้นสุดอยู่แถวตะเข็บชายแดนไทยในแถบภาคเหนือบริเวณ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน
ครูสองแผ่นดิน
ต้นเดือนธันวาคมเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมและคณะเดินทางได้เคยเดินทางมาหมู่บ้านปางคามเป็นครั้งแรก เพื่อบริจาคอุปกรณ์การศึกษาให้กับน้องๆ ในโรงเรียนบ้านปางคาม โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้นคือคุณสุจินต์ วงศ์ทอง หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูสองแผ่นดิน”
เรื่องราวของครูสองแผ่นดินนั้นมีที่มาน่าสนใจว่า คุณสุจินต์ ผู้ซึ่งจบการศึกษาจากรั้ว มศว. ในวัยหนุ่มประมาณเมื่อ 50 ปีก่อน ท่านได้เลือกมาบรรจุรับราชการครูที่โรงเรียนบ้านปางคาม ที่ซึ่งห่างไกลจากทุกสิ่งอย่าง การคมนาคมเข้าออกหมู่บ้านถึงถนนใหญ่ (ปัจจุบันคือทางหลวงสาย 1095 ที่คุ้นเคยกันคือ อ.แม่แตง ถึง จ.แม่ฮ่องสอน) มีระยะทาง 35 กม. พาหนะเดียวในตอนนั้นคือ “รองเท้า..” ท่านได้เคยเปรยกับผมว่า ตั้งแต่ได้มาบรรจุที่นี่แล้วก็ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่ไหนเลย แม้ในวันที่จะกลับไปบ้านที่เชียงใหม่ เด็กๆ นักเรียนก็พากันเดินไปส่งที่ถนนใหญ่ เดินไปร้องไห้กันไป กลัวว่าครูจะไม่กลับมา หากเป็นฤดูฝนรองเท้าที่ใส่ย่ำติดโคลนดิน เด็กๆ ก็ช่วยกันนำขึ้นมาจากบ่อตมแล้วหาน้ำมาล้างให้ครู มันเป็นภาพจำที่ทำให้ครูหนุ่มเลิกล้มความคิดที่จะย้ายออกไปจากหมู่บ้านหลังเขาลึกลับในม่านหมอกแห่งนี้
คำว่า ครูสองแผ่นดิน นั้นได้มาจาก บ้านปางคาม มีพื้นที่ติดกับดอยไตแลง ซึ่งเป็นพื้นที่มั่นของกองกำลังรัฐฉานตอนใต้บนทิวเขาแดนลาวสลับซับซ้อน บริเวณนั้นมีทรัพยากรป่าไม้และแร่ธาตุผู้คนในรัฐฉานคือชาวไตหรือไทยใหญ่ได้อาศัยทำมาหากิน ในยามปกติสุขที่ไม่มีการสู้รบกับกองกำลังทหารพม่า หรือไม่มีโรคระบาดดั่งเช่นในปัจจุบัน ชาวไตแลงสามารถเดินทางไปมาหาสู่กับชาวปางคามได้ดุจญาติมิตร เด็กชาวไตแลงที่ฝักใฝ่หาความรู้ศึกษาต่อ มักจะขอเข้ามาร่วมเรียนที่โรงเรียนบ้านปางคาม ซึ่งคุณสุจินต์ ก็ได้ให้ความอนุเคราะห์ตามอรรถภาพเท่าที่มี จึงเป็นที่เคารพนับถือจากทั้งเด็กๆ และผู้ปกครองทั้งสองฟากฝั่ง และนั่นคือที่มาของคำว่า “ครูสองแผ่นดิน”
ปางคามในวันนี้
มาถึงวันนี้ ธันวาคม 2564 ผมได้กลับมาเยือนบ้านปางคามอีกครั้ง ตั้งแต่เลี้ยวขวามาจากทางหลวงสาย 1095 เข้าไปตามป้ายบ้านแม่ละนา (เพี้ยนมาจากคำว่า แม่น้ำ ลัด นาข้าว) ผ่านบ้านจ่าโบ่ (มาจากคำว่า จะโบ่ ในภาษามูเซอคำว่า จะ ใช้นำหน้าชื่อเพศชาย ส่วนเพศหญิงใช้คำว่า นะ นำหน้าชื่อ เพื่อเป็นการบ่งบอกเพศ) ต่อไปอีกประมาณ 30 กม. เส้นทางที่เมื่อก่อนเป็นทางทุรกันดาร แต่ปัจจุบันนี้ลาดยางตลอดสายรถเก๋งขับไปได้สบาย แต่ควรจะต้องเชคเบรกและกำลังเครื่องให้ดีเสียก่อน
ระหว่างทางจะผ่านจุดชมวิวทิวเขาสวยอยู่หลายจุด ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือบริเวณ จุดชมวิวห้วยเหี๊ยะ สามารถจอดรถชมทิวเขาแดนลาวได้อย่างสวยงาม ปัจจุบันเริ่มมีที่พักพร้อมหมูกระทะให้บริการ แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่หรูหรามากนัก เหมาะสำหรับแนวแค้มป์หรือผจญภัยประมาณนั้น
บ้านปางคาม ในวันนี้ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 9 ปีที่แล้วมากนัก วัดปางคามยังคงเงียบสงบน่าเลื่อมใสศรัทธา เรายังได้มีโอกาสแวะเข้าไปทำบุญและสนทนากับท่านเจ้าอาวาสอยู่พักใหญ่ รอบหมู่บ้านมีสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ถ้ำปางคาม ว่ากันว่าสวยงามบริสุทธิ์แต่ทว่าช่วงนี้ยังปิดซึ่งน่าจะเปิดให้เข้าชมได้ในช่วงวันปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง ต้นไม้โบราณขนาด 8 คนโอบ หากสนใจจะไปชมสามารถติดต่อชาวบ้านที่เปิดบริการโฮมสเตย์ให้นำพาเดินขึ้นไปชมได้เช่นกัน และที่นี่เป็นแหล่งปลูกส้มอร่อยมีรสหวานเปลือกหนาเก็บไว้ได้นาน ที่สำคัญราคาถูกมากๆ ครับ
ผมพักรับประทานอาหารเที่ยงแบบง่าย ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าศรีนวล โดยป้าได้เปิดให้บริการบ้านพักแบบ
โฮมสเตย์ด้วย ค่าบริการอยู่ที่ท่านละ 400 บาท รวมอาหารเย็น และ เช้า บ้านไม้สะอาดอบอุ่นในยามหนาวอยู่ใกล้วัดปางคามศูนย์กลางของหมู่บ้าน ป้าศรีนวลผู้มีอัธยาศัยดีทำให้เรารู้จักปางคามมากขึ้น และเรื่องหนึ่งที่ผมทราบจากมิตรใหม่นี้คือ ข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ คุณสุจินต์ วงศ์ทอง ครูสองแผ่นดิน ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนในหมู่บ้านปางคาม และจากหมู่บ้านใกล้เคียง ให้ได้มีการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี
มื้อเที่ยงของผมจบลงแบบเหงาๆ แกมหดหู่ท่ามกลางความหนาว เมื่อรับรู้ถึงการจากไป ถึงแม้ผมจะได้เคยพบเจอท่านเพียงครั้งเดียว แต่คุณความดีที่ท่านได้สร้างสมไว้ให้คนรุ่นหลังนั้น ยังทำให้ระลึกถึงอยู่เสมอไป…ขอให้ท่านจงเดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดีตราบนิจนิรันด์ ด้วยความเคารพครับ
สอบถามข้อมูลที่พักแบบโฮมสเตย์บ้านปางคาม / นำเที่ยวในหมู่บ้าน
ป้าศรีนวล
โทร.0932540823