เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
แม่ฮ่องสอน – หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 กำชับกำลังพลทุกกองร้อยเฝ้าสกัดขบวนการค้าวัว-ควายเถื่อนจากเพื่อนบ้านเข้มงวด กันโรคลัมปีสกินระบาดเพิ่ม หลังพบลามแล้ว 35 จังหวัดทั่วประเทศ เฉพาะภาคเหนือเจอ 7 จังหวัด
พ.อ.สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 เน้นย้ำการปฏิบัติงานของกองกำลังป้องกันชายแดนในเรื่องการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะนำพาโรคลัมปีสกินเข้ามาในประเทศเพิ่มเติมอีก โดยกำชับให้ทุกกองร้อยที่ประจำพื้นที่ตามแนวชายแดนเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด ตามนโยบาย พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3
หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ตามแนวชายแดนขอให้แจ้งไปที่กองกำลังป้องกันชายแดนเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก กองกำลังนเรศวร โทรศัพท์ 0-5556-3703 หรือกรมทหารพรานที่ 36 โทรศัพท์ 0-5368-1300
ทั้งนี้ ช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้รายงานว่าพบโคเนื้อแสดงอาการของ “โรคลัมปีสกิน” ในพื้นที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด จึงได้มีการเก็บตัวอย่างของเชื้อไปส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หลังทำการตรวจสอบแล้วได้ผลสรุปออกมาว่าเชื้อที่มีการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยชื่อว่า “ลัมปีสกิน” ซึ่งจากการสันนิษฐานถึงสาเหตุของการเกิดโรค สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติได้ระบุว่าน่าจะเกิดมาจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจจะมีการลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
โรคลัมปีสกินเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Lumpy Skin Disease Virus ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และมีตุ่มน้ำเหลืองขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 เซนติเมตรขึ้นอยู่ทั่วทั้งร่างกาย แต่จะพบมากบริเวณคอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และหว่างขา ที่สำคัญตุ่มที่ขึ้นมาอาจแตกและตกสะเก็ดเป็นเนื้อตาย นอกจากนี้ โค-กระบือยังมีอาการซึม มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารร่วมด้วย ในส่วนของโคนมก็อาจจะเกิดการแท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม โรคลัมปีสกินถือเป็นเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นเฉพาะกับโค-กระบือเท่านั้น ไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่โรคดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่พบเกิดขึ้นแล้ว 35 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในพื้นที่ภาคเหนือพบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, ลำปาง, ตาก, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร และสุโขทัย