ช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทีมข่าว “1/4 Special Report” ออกมาเผยเรื่องราวการใช้ “เงินทุนพลังงาน” หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ! แล้วนำเงิน “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ไปทำโครงการในความรับผิดชอบของกองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ-กอ.รมน.-ศอ.บต. และตำรวจ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์) เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นหลอดแอลอีดี ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ และโคมไฟโซลาร์เซลล์ ตั้งแต่ปี 57-61 ในหลายจังหวัด รวมงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท
“แม่ฮ่องสอน” โมเดล “แผงโซลาร์ฯ” ล่องหน!
แต่มีข่าวหลุดออกมาหลายพื้นที่ว่ามีการจัดซื้อกันแพงมาก! แถมใช้งานไม่ได้ และถูกปล่อยทิ้งร้าง จึงมีสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.จังหวัด เข้าไปตรวจสอบความโปร่งใสการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของ กอ.รมน.ภาค 3 ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
โดยเฉพาะที่ อ.แม่สะเรียง มีรายงานว่า พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.แม่ฮ่องสอน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการโซลาร์เซลล์สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โครงการ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ ของ กอ.รมน.ภาค 3) ครบทั้ง 12 จุด ในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 45,590,000 บาท ปรากฏว่า 1 จุด กลายเป็นโซลาร์เซลล์ล่องหน ไม่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่เครื่องกรองน้ำ ทำให้ผลิตน้ำดื่มไม่ได้ จึงไม่สามารถสูบน้ำได้ตั้งแต่แรก รวมที่ตรวจสอบ พบใช้การได้เพียง 2 จุด แต่ต้องมีอุปกรณ์อื่นเพิ่ม
สรุปว่าจากการตรวจสอบ 12 จุด พบมีการใช้สูบน้ำได้เพียง 2 จุด แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นป.ป.ช.แม่ฮ่องสอน จึงทำหนังสือขอเอกสารชี้แจงจาก กอ.รมน.ภาค 3 เจ้าของโครงการไป 2 ครั้งแล้ว ว่ามีการตรวจรับงานกันอย่างไร มีการประกันกี่ปี หน่วยงานใดได้รับช่วงต่ออย่างไร มีการฝึกอบรมการใช้ระบบให้กับเจ้าหน้าที่และชุมชนตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ หากไม่มีการชี้แจงตอบกลับมา จะสรุปผลการตรวจสอบส่งให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไปตามขั้นตอน
จี้ “ป.ป.ช.-สตง.” อย่า2มาตรฐาน
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าอยากให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใช้มาตรฐานเดียวกับตน ในการตรวจสอบความโปร่งใสการใช้เงิน “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ของกองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ-กอ.รมน.-ศอ.บต. และตำรวจ ในช่วงปี 57-61
หลังการรัฐประหารเดือนพ.ค.57 ตนในฐานะอดีต รมว.พลังงาน ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ว่ามีการนำเงินกองทุนฯไปทำโครงการอะไรบ้าง ถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน และบัญชีธนาคาร เนื่องจากหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือโรงงานต่าง ๆ ในเรื่องของเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั่น ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ข้าราชการ เขาคิดกันไว้อยู่แล้ว
เมื่อน้ำท่วมใหญ่ลดลง เราก็เข้าไปช่วยเหลือโรงงานที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องปั่นไฟ ในมูลค่าไม่เกิน 30% ขณะเดียวกันก็ช่วยประชาชนกรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าพังเสียหายจากน้ำท่วม ใครจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ รัฐออกคูปองช่วยเหลือ 30% ของราคาสินค้า โดยคูปอง 30% ที่ว่านี้มีมูลค่าไม่เกิน 2,000 บาทเท่านั้น
“ผมถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมาก แต่ไม่พบความผิด มันจะผิดได้อย่างไร เพราะการช่วยเหลือโรงงานฝ่ายข้าราชการเค้าคิดกันไว้อยู่แล้ว ส่วนการช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่หลังน้ำท่วม ก็จ่ายผ่านคูปอง จึงไม่มีช่องทางทุจริต อย่างเก่งชาวบ้านไปซื้อของที่มูลค่าประมาณ 7,000-8,000 บาทเท่านั้น เพื่อมาได้คูปองช่วยเหลือไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถูก สตง. ถามว่าโครงการแบบนี้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานหรือไม่ จึงอยากให้ สตง.ไปถามแบบนี้กับโครงการพลังงานทดแทนของกองทัพ ในช่วงปี 57-61 บ้าง”
ทำโครงการที่กอ.รมน.ไม่เชี่ยวชาญ–แพง!
นายพิชัยเปิดเผยต่อไปว่า เงินกองทุนฯ คือเงินที่เก็บมาจากน้ำมัน ใครใช้น้ำมันกี่ลิตรก็ตาม จะถูกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ลิตรละ 1 สลึง ถ้าจำไม่ผิดช่วง 2 ปีนี้ เก็บเงินเข้ากองทุนฯ ลดลงเหลือลิตรละ 10 สตางค์ ซึ่งกองทุนฯ ก้อนนี้ถูกนำใช้ประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ มากมาย สถาบันการศึกษาหลายแห่งมาขอทุนไปทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงาน
พูดง่าย ๆ ว่าทุกหน่วยงาน ทุกโครงการที่มาขอเงินกองทุนฯ ล้วนถูกตรวจสอบความโปร่งใส และประสิทธิผลของทุกโครงการอย่างมี “ธรรมาภิบาล” ดังนั้นโครงการพลังงานของกองทัพ-ตำรวจ-ศอ.บต. ที่ได้เงินไปจากกองทุนฯ ก็ควรถูกตรวจสอบอย่างละเอียดตามหลักธรรมาภิบาลด้วย!
โดยส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมกองทัพในยุค คสช. ต้องมาเบียดบังเงินกองทุนฯ ไปทำโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ทั้งที่ตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ ปกติกระทรวงกลาโหมได้งบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 4.37% แล้วทำไมต้องมาล้วงเงินกองทุนฯ ไปใช้อีก นำไปเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี แล้วงบปกติของแต่ละเหล่าทัพไม่มีหรือ?
หนักไปกว่านั้นคือทำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อนำไฟฟ้ามาใช้กับเครื่องสูบน้ำ ถามว่ากอ.รมน. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีความเชี่ยวชาญด้านนี้หรือ? ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้ว ซ่อมแซมบำรุงรักษาได้หรือเปล่า?
แต่ที่แน่ ๆ คือแพงมาก! เพราะเท่าที่ทราบการลงทุนทำโซลาร์เซลล์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 24 ล้านบาท แต่โครงการของกอ.รมน.ที่ถูกตรวจพบแล้วแค่ 200 กิโลวัตต์ หรือแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น แต่ใช้เงินของกองทุนฯ ไปกว่า 45 ล้านบาท แล้วใช้งานไม่ได้ ไม่มีการตรวจรับงาน บางแห่งแผงโซลาร์เซลล์หาย! แล้ว สตง. กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะว่าอย่างไร เพราะมีรายการ “น้ำลด ตอผุด” เกิดขึ้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน 12 จุด ใช้การสูบน้ำได้เพียง 2 จุด แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ผิดวัตถุประสงค์–ใช้เงินสะเปะสะปะ–ไม่มีอายุความ
ยังมีอีกมากมายหลายจังหวัดจะว่าอย่างไร? เช่น โครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลค่า 126 ล้านบาท โดยศอ.บต. ชุดโครงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลค่า 72 ล้านบาท โดย กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพภาค 2 ค่ายเอราวัณ ร.1 รอ. ตำรวจภูธรภาค 5 ตำรวจภูธรภาค 7
โครงการพลังงานทดแทนในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน-การขยายผลด้านพลังงานทดแทน-ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 โครงการ มูลค่า 345 ล้านบาท โดยกอ.รมน. ร่วมกับสถาบันการศึกษา และมูลนิธิ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนโครงการจัดตั้งหมู่บ้านชาวไทยภูเขา อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง อ.เมือง จ.เชียงราย รวม 4 ชุดโครงการในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพบก งบประมาณรวม 60 ล้านบาท (โครงการละ 15 ล้านบาท)
โครงการติดตั้งชุดโคมไฟถนนแอลอีดีในหน่วยงานกองทัพอากาศ งบประมาณ 56.25 ล้านบาท โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงสว่างหลอดแอลอีดี สำหรับถนนสาธารณะในโรงเรียนนายร้อยจปร. งบประมาณ 11.87 ล้านบาท โครงการศึกษาวิจัยนำร่องโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานเชิงปฏิบัติการ งบประมาณ 40 ล้านบาท ค่ายพรหมโยธี จ.ปราจีนบุรี โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ที่หน่วยงานกองทัพอากาศ งบประมาณ 184.53 ล้านบาท ในกองบิน 2 จ.ลพบุรี ฝูงบิน 237 กองบิน 23 น้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงเรียนการบิน จ.นครปฐม กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี และกองบิน 46 พิษณุโลก โครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในอาคารกองทัพเรือ มูลค่า 318 ล้านบาท
“ผมฝากไปยัง สตง. และคณะกรรมการป.ป.ช. รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดต่าง ๆ ที่มีโครงการในลักษณะนี้อยู่ในพื้นที่ ท่านต้องรีบไปตรวจสอบเหมือนกับกรณี ป.ป.ช.แม่ฮ่องสอน เพราะยังมีโครงการอีกมากมายที่กองทัพ-กอ.รมน.-ตำรวจ และศอ.บต. เอาเงินกองทุนฯ ไปทำโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทน แบบผิดวัตถุประสงค์ ใช้เงินสะเปะสะปะ บางพื้นที่ชาวบ้านไม่ต้องการก็ไปติดตั้งไว้เกะกะ ทำโครงการที่ตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ ติดตั้งแล้วทิ้ง บางแห่งไม่ตรวจรับ เรื่องแบบนี้เข้าข่ายทุจริตชัดเจน และไม่มีอายุความ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” นายพิชัย กล่าว.