โควิดดันตลาดส่งออกกาแฟปี’64 บูม “ยุโรป-สหรัฐ” คั่วไม่ทัน “สมาคมกาแฟไทย” จี้รัฐปลดล็อกกฎระเบียบ เปิดทางนำเข้าวัตถุดิบมาผสมช่วยลดต้นทุนพ่อค้า เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขัน
นายเจริญ บุญลาภทวีโชค เลขาธิการสมาคมกาแฟไทย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดกาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป กาแฟกระป๋อง เป็นที่ต้องการมากขึ้น
โดยเฉพาะตลาดฝั่งยุโรป สหรัฐ เนื่องจากผู้ผลิตในยุโรปและสหรัฐติดปัญหาโควิดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องนำเข้าโดยเฉพาะกาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป ที่มีเกรดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นโอกาสของการส่งออกไทย
“แม้ว่าทิศทางตลาดส่งออกกาแฟในปี 2564 จะมีการเติบโตดี แต่คาดว่าไทยจะส่งออกน้อย เนื่องจากปริมาณความต้องการในประเทศยังสูง ส่วนคาดการณ์ยังไม่สามารถประเมินได้
เนื่องจากยังต้องดูหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดการส่งออกเดือนมกราคม 2564 กาแฟดิบปริมาณ 16.78 ตัน มูลค่า 0.083 ล้านเหรียญสหรัฐ กาแฟคั่ว ปริมาณ 18.96 ตัน มูลค่า 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ กาแฟสำเร็จรูป ปริมาณ 1,666 ตัน มูลค่า 6.55 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ และเมล็ดกาแฟคั่ว มูลค่า 3.02 ล้านเหรียญสหรัฐ กาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 99.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูป สปป.ลาว มูลค่า 24.33 ล้านเหรียญสหรัฐ
กัมพูชา มูลค่า 22.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา มูลค่า 21.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 10.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหราชอาณาจักร มูลค่า 8.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
“เอกชนต้องการให้หน่วยงานรัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมทั้งลดกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคในการส่งออก รวมถึงเรื่องของผลผลิต ราคา คุณภาพ ต้นทุนสูงแท้ไทยมีจุดแข็งพื้นที่การเพาะปลูกที่สามารถปลูกเองได้
มีผลผลิตเป็นของตัวเองแต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของตลาดได้เพราะราคายังสูงกว่าตลาด รวมไปถึงคู่แข่งทั้งเวียดนาม สปป.ลาว มีการส่งเสริมตลาด การเพาะปลูกและราคาที่ถูกกว่าไทย ทำให้การแข่งขันของไทยลำบาก”
ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบกาแฟจากต่างประเทศมาผสม เพื่อการส่งออกยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาของกฎระเบียบที่กำหนดต้องเป็นกาแฟไทยดังนั้น หน่วยงานรัฐต้องช่วยลดปัญหา แก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยการส่งออก ให้สอดคล้องและทันสมัย ซึ่งจากการติดตามอยู่ระหว่างการแก้ไข
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกกาแฟมี 230,027 ไร่ พื้นที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอน กาแฟที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์อราบิก้า ปลูกบนพื้นที่ 78,353 ไร่
และพันธุ์โรบัสต้าพื้นที่ 151,674 ไร่ ผลผลิตเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24,514 ตัน สำหรับราคารับซื้อเมล็ดกาแฟในตลาดโลก ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย กก.ละ 40.67-48 บาท ขณะที่ราคารับซื้อเมล็ดกาแฟในไทย กก.ละ 66.98 บาท
รายงานจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า แผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ ปี 2563-2573 วิสัยทัศน์ “การเป็นผู้นำ การผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพ
ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟไทย” มีแนวทาง 1.ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา 2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบการผลิตที่มีมาตรฐานสากล 3.สร้างและพัฒนาเครือข่ายภาครัฐ วิชาการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ