- ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
“นี่คือชีวิตของพวกเราที่ถูกเผด็จการคุกคาม ชีวิตผมและชีวิตผู้ลี้ภัยคนอื่นไม่ต่างกัน” ซอ ปองเลกะเลลามุ ชายชาวกะเหรี่ยงในวัยสี่สิบเศษ กล่าวผ่านวิดีโอคลิปขณะถ่ายให้เห็นภาพเด็กชายวัยไม่ถึง 10 ขวบกำลังนั่งเล่นอยู่กับเด็กชายวัยไม่ถึง 3 ขวบอยู่ในซอกเขาที่ดูเหมือนถ้ำริมฝั่งแม่น้ำสาละวินฝั่งเมียนมา ตรงข้ามกับบริเวณ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
ซอ เป็นหนึ่งในชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 3,000 คน จาก 9 หมู่บ้านในเมืองลูตอ รัฐกะเหรี่ยง ที่ต้องทิ้งบ้านเรือนพยายามหนีเข้ามาฝั่งไทย หลังทหารเมียนมาโจมตีทางอากาศเขตอิทธิพลของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู หลายครั้งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของทหารเมียนมามีขึ้นตั้งแต่เย็นวันที่ 27 มี.ค. เป็นการตอบโต้ที่เคเอ็นยูเข้าถล่มฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในรัฐกะเหรี่ยงตั้งแต่เช้าตรู่วันเดียวกันในโอกาสวันกองทัพเมียนมา สังหารทหารเมียนไป 10 นาย และยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่เคเอ็นยูให้ข่าวกับสื่อไทยว่าอีกสาเหตุหนึ่งของการโจมตีรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญเกิดจากการที่เคเอ็นยูไม่ยอมเปิดเส้นทางให้กองทัพเมียนมาส่งเสบียงไปให้ทหาร ผลของการโจมตีทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 คน และทำให้คนหนุ่มสาว เด็กเล็ก และคนชรา ในรัฐกะเหรี่ยงกว่า 12,000 คนต้องหนีตายทิ้งบ้านเรือน
เคเอ็นยูอ้างว่าเกิดขึ้นอีกหลายครั้งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ทางการเมียนมาประกาศทางโทรทัศน์ว่าจะยุติความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย. ก็ตาม
“ตรงนี้มันแย่มาก ชีวิตเราไม่ปลอดภัยเลย ไม่มีใครประกันความปลอดภัยของชีวิตเราได้เลย เราอยู่ริมน้ำตรงนี้ เรากินตรงนี้ เรานอนตรงนี้ ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่แบบนี้ อยู่ในถ้ำ” ซอกล่าวในคลิปวิดีโอที่ส่งให้บีบีซีไทยจากบริเวณริมแม่น้ำสาละวินฝั่งเมียนมาเมื่อวันที่ 2 เม.ย.
ซอและเพื่อนร่วมชะตากรรมกว่า 3,000 ชีวิต พยายามข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามายังฝั่งไทยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. แต่ถูกทางการไทยผลักดันให้ข้ามกลับไปภายในวันเดียวกัน
“พวกเราพยายามจะขอลี้ภัยอยู่ในไทย แต่ภาครัฐไม่อนุญาตให้เราอยู่ เเละเราก็กลับไปในหมู่บ้านไม่ได้ เราอยู่บ้านตัวเองไม่ได้ เพราะเผด็จการทหารทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านเรา เพราะชีวิตไม่ปลอดภัย จึงต้องมาอยู่ตรงนี้” ซออธิบาย
อย่างไรก็ตามทางการไทยปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ผลักดันชาวกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัยให้กลับไป แต่ได้พูดคุยทำความเข้าใจจนกระทั่งผู้อพยพเหล่านั้น “สมัครใจ” เดินทางกลับเอง
“อยู่แค่คืนเดียว”
แอ (นามสมมติ) หญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 40 เศษซึ่งทำงานให้กับองค์กรเพื่อสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization) บอกกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ว่าเธอและครอบครัวพากันข้ามมาฝั่งไทยทันทีที่หมู่บ้านของเธอถูกโจมตีจากทางอากาศเมื่อ 29 มี.ค. มีคนนับร้อยที่หลบหนีมาเพื่อมาหาที่ปลอดภัยในฝั่งไทย โดยมีบางส่วนที่ได้เข้ามาแต่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่แค่คืนเดียวเท่านั้น
“เราก็พยายามจะบอกว่าพวกเราไม่ได้ต้องการย้ายมาอยู่ที่ไทย แต่อยู่ได้แค่คืนเดียวทางเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยก็ขอให้ทุกคนข้ามกลับไปเพราะมันไม่มีอะไรแล้ว” เธออธิบาย
“พวกเราต้องการกลับบ้านเพราะทรัพย์สินก็อยู่ฝั่งโน้นหมด แต่ตอนนี้มันยังไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้ามีระเบิดหรือมียิงอีกจะให้กลับเข้ามา”
แอบอกว่าชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันกลับไปไม่กล้ากลับไปนอนที่หมู่บ้านตัวเองเพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เธออธิบายว่าตอนนี้มีผู้ลี้ภัยประมาณ 2,000 กว่าคน ในจำนวนนั้นมีเด็กอยู่ 800 คน โดยในกลุ่มนี้มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี อยู่กว่า 400 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 29 มี.ค.)
“ทุกคนกลับไปอยู่ฝั่งเมียนมา ตรงแนวตะเข็บชายแดนเพราะไม่กล้ากลับเข้าบ้าน ทุกคนรู้ว่าพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินปลอดภัยกว่า เพราะว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาสามารถวิ่งเข้ามาทางฝั่งไทยง่ายกว่า และทันทีที่พวกเราก้าวขาขึ้นมาบนฝั่งไทย ทหารพม่าจะไม่กล้ายิงพวกเรา” เธอกล่าว
“สภาพความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้แย่มาก ทุกคนต้องนอนบนดิน บนทราย หรือหลบตามถ้ำต่าง ๆ อาหารที่นำมาด้วยก็จะหมดแล้ว บ้านก็กลับไม่ได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ไทยช่วย”
แอบอกด้วยว่า ชาวกะเหรี่ยงอยากจะขอร้องให้รัฐบาลไทยจัดสถานที่ผู้ลี้ภัยให้ในฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย และขอให้ทางการไทยเปิดแดนให้มีการนำอาหารและยาข้ามมาให้ผู้ลี้ภัยอยู่ตามตะเข็บชายแดน เธอย้ำว่าชาวกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยไม่ต้องการจะอยู่ฝั่งไทยตลอดไป พอเหตุการณ์สงบก็จะกลับไปอยู่บ้าน
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของไทยในพื้นที่เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า ชาวกะเหรี่ยงที่หลบภัยอยู่ริมน้ำสาละวินช่วงกลางวันนับพันคน จะข้ามแม่น้ำมานอนฝั่งไทยช่วงกลางคืน เพราะกลัวการโจมตีทางอากาศ แล้วข้ามกลับไปอยู่ตรงฝั่งเมียนมาในช่วงกลางวัน พวกเขายังทำแบบนี้อยู่จนถึงวันนี้เพราะเชื่อว่าการข้ามมานอนที่ฝั่งไทยจะทำให้พวกเขาปลอดภัยมากกว่า
ข้อมูลนี้ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ท. อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) ว่ามีผู้หนีภัยจากความไม่สงบมาไทย ยังคงเหลืออยู่ที่ อ.แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน “ประมาณร้อยกว่าคน”
จากเดิม 3,000 คน กลายเป็นลักษณะ “คนเดินทางข้ามไปข้ามมา” โดยยอดเมื่อคืน 4 เม.ย. กลับเข้ามาประมาณ “พันกว่าคน”
ความช่วยเหลือจากฝั่งไทย
หลังภาพผู้อพยพนับร้อยมาขึ้นฝั่งที่ไทย และภาพของพวกเขาที่ต้องอาศัยในป่าและถ้ำถูกเผยแพร่ออกไป ความช่วยเหลือจากคนไทยและชาวกะเหรี่ยงฝั่งไทยก็หลั่งไหลไปที่ชายแดนไทยทันที แต่ในเบื้องต้นไม่ได้รับอนุญาตให้ขนข้ามไปเอง
อาหาร ยา และของใช้จำเป็นได้ถูกบริจาคมาไว้หน้าด่านอยู่มากมายแต่ทางการไทยไม่สามารถส่งมอบสิ่งของดังกล่าวได้ และผู้ลี้ภัยทางฝั่งเมียนมาก็กำลังขาดแคลนอาหารเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามยังมีเอ็นจีโอและชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบางคนหาช่องทางการส่งอาหารปริมาณไม่มากผ่านแนวชายแดนธรรมชาติเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องของพวกเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่ง พล.ท. อภิเชษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ว่า อนุญาตให้ส่งอาหารให้ผู้ลี้ภัยได้ แต่ต้องผ่านทหารด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่สามารถปล่อยให้เรือวิ่งข้ามแม่น้ำสาละวินโดยเสรีได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างทหารเมียนมากับเคเอ็นยูอยู่
ญาติพี่น้องสองฝั่งสาละวิน
พื้นที่ ต.แม่สามแลบ อ.สมเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านชายแดนตามแนวแม่น้ำสาละวินที่สงบและผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวกะเหรี่ยงจากทางฝั่งเมียนมา แต่พวกเขาก็อยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยมานานหลายสิบปีจนได้สัญชาติไทย
บ่ายวันเสาร์ที่ 3 เม.ย. ที่ร้อนอบอ้าวและสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบ ชาวบ้านแม่สามแลบต่างออกมาใช้ชีวิตวิถีใหม่อย่างระวังตัว ด้วยสภาวะการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ผู้หญิงและเด็ก ๆ ในหมู่บ้านต่างใช้เวลาช่วงกลางวันนี้ในการซักผ้าที่ริมตลิ่ง และเล่นนำคลายร้อนในแม่น้ำสาละวิน
ถัดขึ้นมาบนหน้าผาอันสูงชันซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่อาศัย ชายชาวกะเหรี่ยงอายุ 56 ปี นั่งเฝ้าร้านขายของชำอยู่ริมถนนพร้อมรถกระบะคันใหญ่ที่จอดอยู่หน้าบ้าน
“ผมเตรียมรถเอาไว้แล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผมจะได้พาครอบครัวหนีทัน” ชายชาวกะเหรี่ยงกล่าว
เขาบอกกับบีบีซีไทยว่าเขาย้ายจากเมียนมามาอยู่ไทยกว่า 30 ปีแล้ว และตลอดเวลาที่เขาอยู่ที่ไทย บ้านของเขาถูกเผาไป 3 หลังจากเหตุระเบิดลูกหลงทางฝั่งเมียนมา และครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน เขาบอกกับครอบครัวให้เตรียมพร้อมหลบหนีอยู่เสมอ
ถัดออกไปอีกไม่ไกล สามีภรรยาคู่หนึ่งกำลังเตรียมสร้างบ้านตรงบริเวณหน้าผา พวกเขาบอกกับบีบีซีไทยว่าจริง ๆ แล้วบ้านของพวกเขาอยู่ริมแม่น้ำสาละวินตรงข้ามกับฝั่งเมียนมา แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเหตุวุ่นวายและได้ยินเสียงปืนดังในช่วงกลางคืนแทบทุกคืน พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง
“พวกเราย้ายมาอยู่ไทย 18 ปีแล้ว และทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปืนก็จะนึกถึงเหตุความรุนแรงที่ทางฝั่งโน้นได้” หญิงชาวกะเหรี่ยงมุสลิมวัย 41 ปีกล่าว “บ้านของพวกเราเคยถูกระเบิดลง เรารู้ว่ามันโหดร้ายมาก พวกเราเลยต้องเตรียมหนี”
สามีของเธอวัย 38 ปี บอกกับบีบีวีไทยว่าทุกวันนี้เขาไม่รู้ชะตากรรมของแม่เพราะอินเทอร์เน็ตถูกตัดจนไม่สามารถติดต่อกับทางครอบครัวฝั่งโน้นได้
“ผมไม่แน่ใจว่าแม่ของผมยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า” เขาพูดพร้อมน้ำตาไหลอาบแก้ม “แต่ก่อนนี้เรายังข้ามไปหากันได้ แต่พอมีโควิด ผมไปเยี่ยมแม่ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังได้เห็นหน้าผ่านวิดีโอคอล แต่ตอนนี้ผมติดต่อใครไม่ได้เลย”
ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงมุสลิมนี้บอกกับบีบีซีไทยว่าทางผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลได้มาแจ้งข่าวสารให้ทุกบ้านทราบถึงจุดอพยพเมื่อเกิดเหตุไม่สงบ และพวกเขาก็เตรียมตัวหนีได้ทุกเมื่อหากมีความจำเป็น
สถานีโทรทัศน์ของทางการเมียนมาแถลงเมื่อ 31 มี.ค. ว่าจะยุติความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยเป็นเวลา 1 เดือน นับแต่ 1 เม.ย. แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงหลายคนแล้ว พวกเขาไม่เชื่อข่าวนี้
“พวกเราไม่เชื่อการประกาศหยุดยิงของรัฐบาลพม่าเพราะที่ผ่านมาพวกเขายังส่งโดรนมาสอดแนมตลอด การประกาศหยุดยิงก็คือการหยุดเพื่อรวบรวมกำลัง เรายืนยันจะหลบอยู่บริเวณชายแดนจนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยจริง ถึงแม้ว่าจะชิตตรงนี้จะลำบาก แต่ก็เชื่อว่าปลอดภัยกว่ากลับเข้าไปในหมู่บ้าน” แอ อาสาสมัครองค์กรเพื่อสตรีกะเหรี่ยงกล่าว