กฟผ. ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3 – สบเมย เตรียมเปิดเวทีสอบถามรับฟังความเห็น สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3-สบเมย ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยมีนายผะอบ บินสะอาด นายอำเภอสบเมย เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม การประชุมในครั้งนี้ โดยนายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้จัดการโครงการ และ นายพิสุทธิ์ แสงมณี นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการการศึกษาและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบัน นำเสนอประเด็นข้อห่วงกังวลของชาวบ้านที่ผ่านมา พร้อมทั้งสอบถามความคิดเห็นของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
โดย ตัวแทนชุมชนได้แสดงความคิดเห็นกรณีการปักพาดเสาพาดผ่านที่อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ทำกินของราษฏร ซึ่งทาง เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงถึงแนวทางการช่วยเหลือและการทดแทนแก่ราษฏรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากนี้จะดำเนินการในระดับอำเภอและระดับชุมชน จำนวน 8 เวที ตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม พ.ศ. 2565 มีชุมชนเข้าร่วมการประชุมจำนวน 16 ชุมชน ได้แก่ บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยหวาย (คุ้มบ้าน) บ้านห้วยครั่ง บ้านกองแนะ บ้านแม่สอ บ้านห้วยลอก บ้านข้าวนึ่งดำ (คุ้มบ้าน) ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่อ่างขาง บ้านห่างหลวง (คุ้มบ้าน) บ้านกะเบอะดิน บ้านผาแดง (คุ้มบ้าน) ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ บ้านห้วยม่วง บ้านละโอ๊ต (คุ้มบ้าน) บ้านแม่ปะหลวง (คุ้มบ้าน) บ้านแม่เลาะ (คุ้มบ้าน) บ้านแม่สวดใหม่ (คุ้มบ้านแม่เงา) ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สำหรับ โครงการดังกล่าวฯเป็นการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าวงจรคู่ แรงดันไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 อำเภอเมือง ลำพูน ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความกว้างของเขตระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า (Right of way) 40 เมตร (ข้างละ 20 เมตร จากศูนย์กลางแนวเสาส่งไฟฟ้า) ระยะทางรวมประมาณ 147.07 กิโลเมตร มีส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 เป็นระยะทาง 27.45 กิโลเมตร เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่