“หากคิดในมุมคนทั่วไปอาจเป็นจังหวัดห่างไกล เข้าถึงยาก และเสียเปรียบ แต่หากมองในมุมกลับถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นจุดแข็งที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้เข้ามาในแม่ฮ่องสอนได้” …เป็นการระบุเชิง “ข้อเสนอแนะ” ที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้สะท้อนไว้บนเวทีเสวนาที่จัดโดย สกสว. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายใต้หัวข้อ “แม่ฮ่องสอนโมเดล : ภูมิทัศน์พิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ”เพื่อให้คนแม่ฮ่องสอน “นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา”
ทั้งทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว…
ที่ถือว่าเป็น “การบ้านน่าสนใจของแม่ฮ่องสอน”…
เกี่ยวกับ “การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย” นั้น นอกจาก “ทุนทางโบราณคดี” ที่มี กรณี “ถ้ำผีแมนโลงลงรัก” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนไปแล้วในตอนที่แล้ว บนเวทีเสวนานี้ “คนแม่ฮ่องสอน” ที่เป็น “ผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง” ก็มี “เสียงสะท้อนที่น่าพิจารณา” เช่นกัน โดย ชนเขตต์ บุญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งร่วมเวทีด้วย ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… จ.แม่ฮ่องสอน เป็นอีกพื้นที่สำคัญของการทำงานวิจัย โดยมีนักวิชาการเข้ามาทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เช่น งานโบราณคดีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ อ.ปางมะผ้า
ศึกษาวิจัยมานาน…แต่คนแม่ฮ่องสอนไม่ค่อยรู้…
ประธานอาวุโสหอการค้าแม่ฮ่องสอน เล่าย้อนให้ฟังว่า… หลังจากที่ทราบว่าแม่ฮ่อนสอนมีงานวิจัยเรื่องนี้ ก็รู้สึกสนใจมาก เพราะมองว่า… เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญและดีมาก ไม่เฉพาะกับพื้นที่ อ.ปางมะผ้า แต่หมายถึงคนแม่ฮ่องสอนทั้งหมดด้วย จึงพยายามสืบค้นหาข้อมูล ก็พบอุปสรรคในด้านการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เพราะเป็นงานวิชาการ จึงตัดสินใจติดต่อไปหาคณะที่ทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะมองเห็นถึง “โอกาสที่ดี” ของ “พื้นที่แม่ฮ่องสอน” ที่สามารถ นำความรู้งานวิจัยไปต่อยอดได้…
อย่างไรก็ตาม กับ “ข้อจำกัด” ที่เกิดขึ้น ทางแหล่งข่าวคนเดิมยอมรับว่า… เรื่องนี้เป็น “Gap” หรือ “ช่องว่าง” ที่ทำให้ภาคเอกชน หรือแม้แต่ชุมชน อาจไม่สามารถนำองค์ความรู้งานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หากจะทำให้งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้งก็จำเป็นจะ
“ต้องย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายมากขึ้น” และ “ต้องเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูล” จึงจะเกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากงานวิจัย …เป็นมุมมองของทางประธานอาวุโสหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่เสนอให้ “ลดช่องว่าง” เหล่านี้
เพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น
“มองในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ส่วนตัวเชื่อว่า… ผู้ประกอบการก็อยากที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพียงแต่เข้าไม่ค่อยถึง และขาดคนที่จะมาช่วยย่อยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้ ก็เชื่อว่า…น่าจะมีภาคเอกชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้เพิ่มขึ้น”…ชนเขตต์ ชี้ถึง “ความเป็นไปได้”
ที่หนึ่งในนั้นก็มี “โมเดลการท่องเที่ยวในเชิงวิชาการ”
ที่ “น่าได้รับการโฟกัส” ในการ “จัดการท่องเที่ยว”…
สำหรับประเด็นนี้ ชนเขตต์ ระบุว่า… มองในแง่การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านโบราณคดีแล้ว พื้นที่ อ.ปางมะผ้า น่าจะสามารถผลักดัน “โมเดลท่องเที่ยวเชิงวิชาการ” ได้ เพราะอันที่จริงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอนเองนั้นก็ได้มีการส่งเสริมแนวทางการท่องเที่ยว “7 เมือง 7 อำเภอที่ไม่เหมือนกัน” โดยในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า ได้ถูกวางไว้ให้เป็น “เมืองแห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์” เพราะมี “จุดแข็ง” เรื่องนี้ ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว จึงจะไม่โฟกัสไปที่กลุ่ม Mass แต่จะเป็น “กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ” ที่ต้องการ เดินทางท่องเที่ยวด้วย และต้องการความรู้กลับไปด้วย…
“ปางมะผ้ามีศักยภาพที่สามารถนำงานวิจัยมานุษยวิทยาและโบราณคดี มาใช้ประโยชน์เข้ากับโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ เพราะมีแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่ง สามารถนำความรู้จากงานวิจัยมาใช้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพรีเมียม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ” …แหล่งข่าวคนเดิมระบุ
อย่างไรก็ดี แต่ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปถึงจุดนั้น ทางชนเขตต์ ย้ำว่า… ก็จำเป็นจะต้อง “ปลดล็อก-ลด Gap” ซึ่งส่วนตัวเสนอว่าอาจจะเริ่มจากการ… “ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน” ระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และชาวบ้าน เพื่อหาจุดสมดุลมากที่สุด นั่นคือ… ชาวบ้าน-ผู้ประกอบการมีรายได้ และพื้นที่ศึกษาวิจัยก็ต้องไม่ถูกทำลาย หรือให้การจัดการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเป็นแบบ “Fair Income” มากที่สุด กับประการต่อมาคือ… “ต้องเข้าถึงข้อมูลวิจัยได้ง่ายขึ้น” ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอยู่ที่ฝั่งนักวิจัย ที่จะต้องช่วยในเรื่องการย่อยข้อมูลเพื่อทำให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ในความสำคัญของพื้นที่…
“ส่วนตัวเชื่อว่า การท่องเที่ยวรูปแบบพิเศษแบบนี้เกิดขึ้นได้ที่แม่ฮ่องสอน และยังมองเห็น โอกาสจากตลาดกลุ่มนักวิชาการที่สนใจแหล่งโบราณคดีระดับโลกนี้ อีกด้วย ซึ่งถ้าสามารถผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ได้อย่างมาก” …แหล่งข่าวคนเดิมย้ำ “ความเป็นไปได้” ของโมเดลนี้ กับ “เสียงสะท้อน” ที่ “น่ารับฟัง”…
“แม่ฮ่องสอน” มี “ท่องเที่ยวพรีเมียม–รูปแบบพิเศษ”
ถ้า “บูม” ได้แพร่หลายระดับโลก “ย่อมมีผลดีแน่” …
“ทั้งต่อแม่ฮ่องสอน…และต่อเมืองไทยโดยรวม” .