เหตุการณ์วุ่นวายที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จ.ตาก เมื่อ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยว่า ศูนย์พักพิงชั่วคราวคืออะไร ยังมีอยู่ในประเทศไทยอีกหรือ แล้วใครดูแล
ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ สำหรับผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา มีทั้งหมด 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด นับตั้งแต่ภาคเหนือ ไล่เรียงลงมาภาคตะวันตก อยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง, ตาก 3 แห่ง, กาญจนบุรี 1 แห่ง และราชบุรี 1 แห่ง
รวมจำนวนผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทั้งหมด 91,411 คน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ “พรสุข เกิดสว่าง” มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เพื่อเป็นการอัพเดทสถานการณ์และความเป็นไปของศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร
ตอนนี้ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ใครดูแล ?
ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ แต่ละแห่ง ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย และปลัดอำเภอ ฝ่ายความมั่นคง ในพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้ดูแล โดยมีอาสาสมัคร (อส.) ร่วมดูแลความปลอดภัย
ขณะที่ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) จะมีบทบาทในการคุ้มครองด้านต่างๆ เช่น กรณีผู้ลี้ภัยถูกทำร้าย ส่วนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้านต่างๆ และองค์กรในต่างประเทศเป็นผู้ดูแล
สำหรับการดูแลด้านอาหาร องค์กร The Border Consortium (TBC) จะเป็นผู้หาทุน ไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทย
อาหารหรือที่พัก ไม่ได้ 100% เหมือนเราที่มีข้าวกินทุกวันไม่ต้องทำอะไร ไม่ใช่แบบนั้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา งบฯ ขององค์กรเหล่านี้ลดลง เขาก็ให้ได้ส่วนหนึ่ง หลักๆ จะเป็นข้าวสาร แต่อย่างอื่นต้องหากันเอง
ส่วนเรื่องการศึกษา จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน แต่เมื่องบฯ ขององค์กรที่ช่วยเหลือน้อยลง อาจทำให้ไม่มีเงินสนับสนุนครูได้มากเท่าเดิม ชาวบ้านจึงต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถึงเป็นปัญหาที่เขาพูดกันว่า คนออกไปทำงานไม่ได้ ก็เลยอยู่ไม่ได้
ได้รับงบฯ ช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยหรือไม่ ?
แม้รัฐบาลไทยจะให้ใช้ทรัพยากรที่ดินเพื่อให้เขาอยู่อาศัย แต่มีข้อมูลว่า มีบางที่ NGOs ต้องจ่ายค่าเช่า
“ผู้ลี้ภัย” ออกไปทำงานนอกแคมป์ได้ไหม ?
โดยหลักการคือไม่ได้ ผู้ลี้ภัยไม่มีโอกาสเป็นแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายในไทย แต่ที่ผ่านมาเป็นการอะลุ่มอล่วย ทุกแคมป์รู้ว่าการนำคนมากักขังไว้ ไม่ให้ออกไปไหน ไม่ให้ออกไปทำอะไร เป็นปีๆ ในความเป็นจริงทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็อะลุ่มอล่วยให้ออกมา คนที่ออกมาส่วนใหญ่จะทำงานตามฤดูกาล เช่น หักข้าวโพด หรือเก็บใบตองตึง แต่ก็จะมีคนหนุ่มสาวที่อยากออกไปทำงานไกลๆ หรืออาจไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทางการมีคำสั่งล็อกดาวน์ทุกแคมป์ ผู้ลี้ภัยหลายคนบอกว่า เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รุนแรงมาก ออกไปทำงานไม่ได้ บางที่พ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน จึงกลายเป็นความกดดัน ผนวกกับเรื่องที่พวกเขาร้องเรียนว่า ทำไมถึงใช้บังคับกับคนที่ไม่มีเงิน หรือคนที่จะต้องจ่ายค่าออก
จ่ายค่าผ่านทางออกนอกแคมป์ จริงไหม ?
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใต้โต๊ะ อาจขึ้นอยู่กับแคมป์ หรือขึ้นอยู่กับปลัดในช่วงเวลานั้นๆ ว่าจะเก็บหรือไม่ และเก็บเท่าไหร่
ถ้าเป็นแม่หละ เท่าที่รู้ก่อนโควิดไม่ได้เก็บ แต่มียุคหนึ่งที่มีการเก็บ แต่เก็บไม่เยอะ เท่าที่ได้ยินมาประมาณ 50 บาท ชาวบ้านก็ยอมจ่าย แต่ในช่วงหลัง ผู้ลี้ภัยบอกว่าไม่ได้เก็บ
ร้านค้าในแคมป์มาจากไหน ?
ตลาดในแคมป์แม่หละ สมัยก่อนมีร้านค้า 2 แบบ คือ ร้านค้ามุสลิม กับร้านค้าที่มีเจ้าของเป็นกะเหรี่ยง เป็นร้านเล็กๆ แต่มาช่วงหลังไม่มีร้านของกะเหรี่ยงแล้ว เหลือแต่ร้านมุสลิม และไม่ได้เป็นมุสลิมที่มาจากรัฐกะเหรี่ยง แต่เป็นมุสลิมที่เดินทางมาเพื่อทำธุรกิจ มาจากมะละแหม่ง ย่างกุ้ง ความสัมพันธ์จึงเป็นเหมือนนายทุนกับชาวบ้าน ก็อาจทำให้ไม่ชอบกันบ้าง
เมื่อเกิดโควิด-19 จากข้อมูลที่ได้รับฟังมา (ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง) ทราบว่า ธุรกิจที่มีอยู่จำนวนมาก จะมีเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง สินค้าที่จะเข้า-ออกในช่วงโควิดต้องผ่านเจ้านี้เท่านั้น แม้ว่าเจ้าอื่นจะนำมาขาย ก็ต้องรับของกับเจ้านี้
หลังๆ การให้เรื่องอาหารผู้ลี้ภัย เขาไม่ได้แจกเป็นของให้มาแบบเมื่อก่อน แต่จะเป็นการ์ดที่ต้องเอาไปรูดที่ร้าน สินค้า-อาหารก็จะแพงขึ้น ในขณะที่ความกดดันคือ คนออกไปทำงานไม่ได้ จึงเกิดความโกรธหรือคับแค้นใจ
แคมป์แม่หละเป็นแคมป์ใหญ่ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง แต่ช่วงหลังมีชาติอื่นเข้ามาอยู่เยอะ ทั้งมอญ คะฉิ่น พม่า มุสลิม ซึ่งเหตุการณ์ชุลมุนที่เกิดขึ้น ได้พยายามสอบถามจากหลายๆ คน ทราบว่าไม่มีแกนนำ เพราะไม่ใช่การนัดชุมนุม และไม่ได้มีการวางแผน
ที่ไหนคือจุดหมายของผู้ลี้ภัย ?
ยุคก่อนเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด คือการกลับบ้าน แต่เมื่อเริ่มมีการเปิดให้ไปประเทศที่สาม ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของเมียนมา สำหรับคนที่มีอายุ ความหวังที่จะได้กลับบ้านก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ
แต่คนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ก็อยากไปประเทศที่สาม จุดหมายปลายทางมีทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย รวมถึงสวีเดน แต่ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ไม่ได้ไป
ถามว่าเขาอยากเป็นคนไทยไหม เวลาคุยกันยาวๆ เขาโอเคเลย เขาอยาก แต่มันจะไม่ได้อยู่ในสมองเขาเลย เพราะเขารู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เขารู้ว่าไทยไม่เอา
ส่วนกรณีที่มีคนพูดว่า “คนในแคมป์ตอนนี้ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยจริง เพราะของจริงไปประเทศที่สามหมดแล้ว” ยืนยันว่าไม่จริง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากไปประเทศที่สาม บางครอบครัวไปแต่รุ่นลูก พ่อแม่ไม่ไป ขณะที่บางครอบครัวก็ไม่อยากพรากจากกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยังวุ่น! ตรึงศูนย์บ้านแม่หละ หลังเหตุประท้วงเผาวอดทรัพย์สิน