เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากในศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ออกมาชุมนุมประท้วงภายในพื้นที่ โดยแหล่งข่าวบอกว่าเกิดจากความไม่พอใจที่ผู้ลี้ภัย 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ หลังจากออกไปทำงานนอกพื้นที่
ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายของ 15 ธ.ค. เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) ก็ยังไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้
เจ้าหน้าที่ อส. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการเข้มงวดการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นการเข้า-ออกพื้นที่พักพิง การสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่พอใจ จนออกมาชุมนุมประท้วงครั้งนี้
สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทยรายงานว่า ความเสียหายเบื้องต้นพบว่ามีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ และร้านค้าของ อส. หลายคูหาถูกรื้อหรือเผาทำลาย
ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งกล่าวว่าสาเหตุการชุมนุมประท้วงมาจากความเหลื่อมล้ำภายในศูนย์อพยพ มีการเข้า-ออกได้ แต่ต้องจ่ายเงิน คนที่มีเงินเข้าออกได้สะดวกและหลายวัน ส่วนคนไม่มีเงินออกไปไหนไม่ได้ นอกจากนี้ มีการเข้มงวดเรื่องโควิด-19 มากเกินไป ทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม
เว็บไซต์ข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงาน เมื่อ 15 ธ.ค. ว่า นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก กล่าวว่าา การประท้วงโดยผู้ชุมนุมราว 100-150 คน เกิดจากความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ อส. โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้เข้าพื้นที่เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยเชิญแกนนำและผู้นำศาสนาในศูนย์พักพิง เข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว และได้สั่งการให้ทางอำเภอท่าสองยางสำรวจความเสียหายในพื้นที่
บีบีซีไทยชวนทำความรู้จักชุมชนผู้ลี้ภัยที่ศูนย์พักพิงแห่งนี้ซึ่งถือเป็นที่พักพิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จากข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ อส. ปัจจุบันศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละมีประชากรราว 37,000-38,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง
จากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการก่อรูปอัตลักษณ์ของผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง : ศึกษากรณีกะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก” โดย สรพงษ์ วิชัยดิษฐ จากเมื่อปี 2547 ประชากรช่วงที่ผู้วิจัยเข้าไปศึกษาระหว่างปี 2546-2548 มีอยู่กว่า 5 หมื่นคน โดยชาติพันธุ์อื่น ๆ ประกอบไปด้วย ชาวเมียนมา กะเรนนี ปะหล่อง ไทใหญ่ ตะแว และแม๊ป
จำนวนประชากรที่ขึ้นลงน่าจะมาจากการย้ายถิ่นไปมาระหว่างเครือข่ายกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือกลุ่มกะเหรี่ยงในเมียนมา กลุ่มกะเหรี่ยงในไทย และกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศที่สาม
งานวิจัยของสรพงษ์ระบุว่า กะเหรี่ยงเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ความเป็นชาติของตนเองในยุคที่อังกฤษเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองเมียนมา เมื่อคณะมิชชั่นนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากได้เข้านับถือศาสนาคริสต์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการสร้างชาติของกะเหรี่ยง และได้มีการสร้างความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาวพม่ากับกะเหรี่ยงในช่วงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
สรพงษ์ระบุอีกว่า เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จึงมีการตั้งค่ายผู้อพยพหลายแห่งตามแนวชายแดน แต่ก็มีกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธได้ลักลอบเข้ามาเผาค่ายอพยพหลายแห่ง จนในที่สุดก็ได้มีการรวมค่ายอพยพต่าง ๆ มารวมกันอยู่ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ
โควิดและไฟไหม้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โควิดเป็นชนวนของสถานการณ์วุ่นวาย ย้อนไปเมื่อกลางเดือน ก.ย. เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ต้องสั่งคุมเข้มศูนย์อพยพแม่หละหลังพบผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 100 ราย โดยแม้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการแต่ก็ต้องมีการตั้ง รพ.สนามในค่ายและกักตัวผู้ลี้ภัยเป็นโซน ๆ
สำหรับขณะนี้ ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทยรายงานว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ยังมีอยู่บ้างแต่ก็ดีขึ้นมากแล้ว
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ ผู้ลี้ภัยแห่งนี้ต้องเผชิญกับเหตุเพลิงไหม้ทำให้ที่พักกว่า 100 หลังได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายงานว่าไฟเริ่มลุกไหม้จากใจกลางศูนย์อพยพ ซึ่งเป็นบ้านกระท่อมมุงด้วยใบตองแห้งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว
คลื่นผู้อพยพ
ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อ ก.พ. ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพเรื่อยมา ขณะความขัดแย้งและการต่อสู้ในเมียนมายังดำเนินต่อไป
ย้อนไปเมื่อปลายเดือน มี.ค. กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู แถลงแสดงความกังวลว่าจะเกิดการปะทะครั้งใหญ่กับทหารของรัฐบาลเมียนมา หลังการโจมตีทางอากาศทำให้ชาวกะเหรี่ยงนับพันคนต้องอพยพข้ามมาฝั่งไทย
แถลงการณ์ของเคเอ็นยูออกมาในวันเดียวกันกับที่กองทัพเมียนมาได้ส่งเครื่องบิน 2 ลำ ไปทิ้งระเบิด ที่หมู่บ้านแม่วาย จังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง และหมู่บ้านแม่ปะหว้า อ.บีลีน รัฐมอญ ห่างจากเมืองผาปูนไปกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองพัน 201 ของเคเอ็นยู โดยเจ้าหน้าที่เคเอ็นยูกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 6 คน
“ขณะนี้กำลังทหารเมียนมานับพันนายกำลังบุกมาทุกทิศทางมาประชิดดินแดนของเรา เราไม่มีทางเลือกเหลือ นอกจากต่อกรกับภยันตรายของคณะรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรมเพื่อปกป้องดินแดนของเรา” แถลงการณ์ของ เคเอ็นยู ระบุ
ต่อมาวันที่ 28 เม.ย. ทางการจังหวัดแม่ฮ่องสอนแถลงว่า กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการทางอากาศถล่มฐานที่มั่นของกองกำลังเคเอ็นยู ตอบโต้ที่เคเอ็นยูเข้าบุกตีฐานเมียนมาพม่าฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน หนึ่งวันก่อนหน้า จนเป็นเหตุให้มีชาวกะเหรี่ยงได้รับบาดเจ็บและขอลี้ภัยเข้ามาในฝั่งไทยจำนวนหนึ่ง
ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้สื่อข่าวพิเศษรายงานว่า ล่าสุดเมื่อ 15 ธ.ค. การปะทะระหว่างทหารเมียนมากับทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู อาจส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าไทยมาอีก 400 คน หลังจากที่กองพันเคลื่อนที่เร็ว 560 กองบังคับการควบคุมที่ 13 ของกองทัพเมียนมา ปะทะกับกองกำลังเคเอ็นยู บริเวณบ้านเลเตอก่อ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง