สถานการณ์ช่วงปลายฤดูฝน หลายพื้นที่ยังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ย. เกิดฝนตกหนักติดต่อมา 3 วัน ทำให้น้ำป่าทะลักจากยอดดอยไหลเข้าท่วมหมู่บ้านอาข่าสันเกล็ดทอง หมู่ 7 ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นรอบที่ 3 ปริมาณน้ำพร้อมดินโคลนไหลเชี่ยวกรากเข้าท่วมบ้านเรือน ถนนทางเข้าหมู่บ้านเต็มไปด้วยดินโคลน บ้านไม้ไผ่บางหลังพังทลาย สร้างความทุกข์ซ้ำเติมจากโควิด-19 ระบาดในหมู่บ้าน ต้องกักตัวกลุ่มเสี่ยงกว่า 20 หลัง เข้าไปรักษาตัวที่ศูนย์พักคอยกว่า 50 ราย ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ
นายพงษ์พีระ ชูชื่น นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รับรายงานจากเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอนว่า เกิดฝนตกหนักและมีลมกรรโชกแรงตลอดทั้งคืน ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอสะพานทรุด ขาดที่ถนนทางหลวงหมายเลข 108 กม.ที่ 314 สายแม่ฮ่องสอน-อ.ขุนยวม หน้าปากทางเข้าหมู่บ้านแม่จ๋า ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โชเฟอร์รถบรรทุก 6 ล้อ ขนข้าวโพดมาเต็มคันเบรกไม่ทันหัวทิ่มตกลงไปในร่องถนน คนขับได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ทำให้ถนนสายดังกล่าวรถทุกชนิดไม่สามารถวิ่งสัญจรผ่านไปมาได้
ด้านว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอขุนยวม เปิดเผยว่า ช่วงเวลา 05.00 น. เกิดน้ำป่าไหลมาจากลำห้วยแม่สุรินทร์เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรที่บริเวณบ้านแม่สุรินทร์ หมู่ 3 ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและสมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอขุนยวมที่ 6 เข้าช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน อยู่ระหว่างสรุปความเสียหายเพื่อขอรับการช่วยเหลือ ขณะนี้ยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้
ขณะที่ น.ส.พะเยาว์ เมืองงาม ผอ.ศูนย์อุตุนิยม วิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัยและดินถล่มใน จ.สงขลา ขณะนี้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทั้งนี้ ในที่ประชุมร่วมพิจารณาแนวทางการทำงานของคณะทำงานวิเคราะห์ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกหนัก พร้อมแจ้งเตือนภัยประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
ด้านนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกที่ประสบกับภัยน้ำท่วม มีมติให้ชดเชยส่วนต่างงวดที่ 1 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค. จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคา 10,864.23 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ราคา 10,407.75 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,947.87 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท ข้าวเปลือกเจ้าราคา 8,065.38 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท และข้าวเปลือกเหนียวราคา 7,662.53 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 1 สูงสุด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 57,900.78 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 57,524 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,303.25 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 58,038.6 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 69,399.52 บาท
ส่วน น.อ.คงฉัตร เกษสุวรรณ ผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ผบ.นพค.55 กำลังพลจิตอาสาพระราชทาน 904 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง คณะครู นักเรียน และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณอาคาร สถานที่ภายในโรงเรียนบ้านท่าขามไร่เดื่อสามัคคี ต.บ้านยาง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ หลังจากได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำจากลำน้ำพรมล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ทำให้โรงเรียนถูกน้ำท่วมขังทั้งหมดใช้รถน้ำฉีดล้างดินโคลนที่ถูกกระแส น้ำพลัดมาทับถมตามอาคาร เพื่อให้นักเรียนกลับมาเรียนหนังสือตามปกติ
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนปริมาณน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีนใน อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือน ล่าสุดเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือ เป็นเขื่อนที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ อ.บางเลน ออกประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนถึงสถานการณ์ระดับน้ำให้เตรียมรับมวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำกระเสียว
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ลาดบัวหลวง และ อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วม 1,300 คน รวมตัวกันบนถนน ใช้รถกระบะปิดทางหลวงหมายเลข 340 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ขาเข้า กทม. จ.สุพรรณบุรี ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 31 หน้าทางเข้าวัดลาดประทุมคงคาราม หรือวัดตาช้าง หมู่ 9 ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจปัญหาความเดือดร้อนพื้นที่ถูกน้ำท่วมในทุ่งหลักชัยและทุ่งบางซ้ายนานนับเดือน การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำพระยาบันลือเพื่อระบายน้ำ หากไม่ดำเนินการชาวบ้านทุกคนจะนอนบนถนน และปิดการสัญจรบนท้องถนนทุกเส้นทางอย่างเด็ดขาดห้ามรถทุกคันเข้าออก
ต่อมานายณรงค์ศักดิ์ ประสาททอง กำนันตำบลหลักชัย และนายประเทือง วิลัยพฤกษ์ ส.จ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านและข้อเรียกร้องเรื่องขอความช่วยเหลือ พร้อมกับประสานกับเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือ ที่รับผิดชอบเรื่องของการเปิดประตูระบายน้ำให้เปิดทุกประตูแบบไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพื้นที่คาบเกี่ยวกับความรับผิดชอบ ของชลประทาน จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรี อยุธยา และ จ.นครปฐม
ชาวบ้านใน อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือกับ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการระบายน้ำลงทุ่ง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน อย่างหนัก ประสบปัญหาน้ำท่วมขังมานานนับเดือน ขอให้ชลประทานลดการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำพระบรมธาตุ จ.อ่างทอง เพื่อให้มวลน้ำไหลลงพื้นที่แก้มลิง ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ จ.พระนคร ศรีอยุธยา รับน้ำก่อนที่จะไหลเข้า กทม.และลงทะเล นอกจากนี้ ที่ทุ่งโพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี ไหล ผ่านพื้นที่ ต.วัดโบสถ์ ต.มะขามล้ม ต.บางปลาม้า ต.วัดดาว ต.บ้านแหลม ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า ต.บ้านกุ่ม ต.ต้นตาล ต.เนินพระปรางค์ ต.ดอนมะนาว ต.บางเลน ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง พื้นที่เหล่านี้ถูกน้ำท่วมเป็นเดือนเช่นกัน ขอให้ลดการระบายน้ำที่ประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท และประตูระบายโพธิ์พระยาลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อให้น้ำที่อยู่ในทุ่งระบายออกไปบ้าง