เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 คณะทำงานกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ซึ่งมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เป็นฝ่ายเลขานุการ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการต่างๆก่อนนำเสนอไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยใน 1 ในวาระการประชุมจะมีการพิจารณาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล(โครงการผันน้ำยวม)ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ได้ทำหนังสือถึงคณะทำงานชุดดังกล่าวเพื่อคัดค้านโครงการผันน้ำยวมและขอให้ยกเลิก โดยระบุว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งโครงการประกอบด้วยโครงสร้างต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน และพื้นที่ของอุโมงค์ส่งน้ำใน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในหนังสือระบุว่าที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้ขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาให้มีความครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ตลอดโครงการ ในพื้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการเจาะอุโมงค์เพื่อส่งน้ำ การทำเขื่อนกั้นแม่น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างร้ายแรงในอนาคต และเป็นการใช้งบประมาณที่อาจจะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศและประชาชนกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตของโรคระบาดโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ และอาจจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี ตลอดทั้งได้แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงและน่าจะเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่ชอบด้วยขั้นตอนแห่งกฎหมายหลายประการ
“เพื่อขอแสดงจุดยืนและคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ โดยขอให้ท่านยกเลิกการพิจารณาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เนื่องจากดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน และโครงการจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชน ในอันที่อาจจะไม่สามารถเยียวยาได้ และความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการที่อาจจะไม่เกิดขึ้นจริงกับงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาลในโครงการนี้ ขอให้ท่านนำข้อห่วงกังวลหรือข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ไปประกอบการยกเลิกการพิจารณาในโครงการ เนื่องจากการจัดทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ไม่ได้ครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้ง พบว่า มีการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอาจจะมีความไม่เหมาะสมหากนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไปประกอบการตัดสินใจของท่านต่อไป” ในหนังสือระบุ
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าสทนช.ควรศึกษาความเป็นไปได้โดยเฉพาะประเด็นการร่วมทุนซึ่งไม่ได้เขียนไว้อย่างละเอียด ที่สำคัญคือสทนช.ควรดูข้อท้วงติงต่างๆ เช่น ที่มีการพูดถึงอีไอเอร้านลาบ ซึ่ง สทนช.ควรรวบรวมประเด็นต่างๆเพื่อให้นำเสนอไปยัง กนช.ก่อนส่งไปยังคณะรัฐมนตรี และ กนช.ควรพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน ไม่ใช่พิจารณาเพียงเพื่อให้ผ่าน เพราะมีคำโกหกอยู่ในนั้น เช่น บอกว่าหากให้บริษัทจากจีนมาดำเนินการแล้วจะทำให้ราคาถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง
“โครงการนี้มีข้อท้วงติงทุกขั้นตอน ผมยังไม่รู้ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีข้อท้วงติงเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับอีไอเอ เพราะไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสาร ถ้ามีข้อท้วงติงใดก็ตามควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี เพราะแม้โครงการนี้จะได้รับการอนุมัติในเบื้องต้น แต่ไม่จำเป็นที่ต้องทำทุกโครงการและไม่จำเป็นต้องรีบ โดยเฉพาะข้อท้วงติงที่บอกว่าไม่คุ้มทุนในการเอาน้ำมาทำนา การลงทุนของภาครัฐควรคุ้มค่าและไม่เป็นภาระต่อประชาชน ไม่ใช่ทำโครงการเพียงเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน”นายหาญณรงค์ กล่าว
2021-10-28
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.