โดย ภาสกร จำลองราช
เมื่อไม่กี่วันก่อนผมทำข่าวชิ้นหนึ่งเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยมีแหล่งข่าวจากริมแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ทหารพม่าซึ่งประจำฐานจ๊อก หยะ ริมแม่น้ำสาละวิน ปล้นเรือของชาวบ้านที่นำสินค้าจากหมู่บ้านแม่สามแลบฝั่งไทย ไปส่งที่บ้านแม่นึท่า ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า
บริเวณริมแม่น้ำสาละวินฝั่งรัฐกะเหรี่ยง มีฐานทหารของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) สลับด้วยฐานทหารพม่าในบางจุด ซึ่งพื้นที่นี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของ KNU เนื่องจากประชาชนทั้งสองฝั่งต่างเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เป็นเครือญาติกันตั้งแต่แม่น้ำสาละวินยังไม่กลายเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างไทย-พม่า
ยุทธวิธีปิดล้อมและกดดันให้ทหารพม่าออกไปจากพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน ด้วยการปิดกั้นเส้นทางลำเลียงเสบียงของทหาร KNU เป็นไปอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ชาวบ้านที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ปล้นเรือครั้งนี้เล่าว่า ระหว่างที่เรือแล่นไปถึงแก่งแม่ขอ ใกล้ฐาน จ๊อก หยะ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดเพื่อบังคับให้เรือเทียบฝั่ง ซึ่งคนขับเรือไม่มีทางเลือกเพราะร่องน้ำลึกอยู่ใกล้ฝั่งกะเหรี่ยง ส่วนทางริมฝั่งไทยมีโขดหิน ทำให้เรือสินค้าซึ่งกินน้ำลึกไม่สามารถแล่นได้
เมื่อเรือเทียบฝั่ง ทหารพม่า 12 คนได้ลงมาขนสินค้าหลายชนิดขึ้นไป จริงๆ แล้วเขาอยากได้ข้าวสาร แต่บนเรือไม่มี จึงได้เอาอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เป็นต้น หลังจากสอบสวนคนขับเรือแล้วก็ปล่อยทั้งคนและเรือให้เดินทางต่อไป
เมื่อข่าวออกมาเผยแพร่ ปรากฏว่ากรมทหารพรานที่ 36 ได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจองค์กรว่า เนื้อข่าวเป็นความเข้าใจผิด โดยระบุว่าทหารพม่าได้ซื้อขายสินค้ากับประชาชนตามปกติ แต่เข้าใจผิดในการชำระเงินทำให้ทหารพม่านำสินค้ากลับไปยังฐานปฏิบัติการของตนก่อน
ขณะเพจ สวท.แม่สะเรียง ได้นำคำชี้แจงของกรมทหารพรานที่ 36 มาเผยแพร่ ปรากฏว่าได้รับความสนใจมากพอสมควร ที่สำคัญมีประชาชนจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนในลักษณะไม่เชื่อข้อมูลคำชี้แจงของกรมทหารพราน พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารไทยที่ใกล้ชิดและทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้ทหารพม่า จนในที่สุดเพจกรมทหารพรานที่ 36 และ เพจ สวท.แม่สะเรียง ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออก
ข่าวทหารพม่าปล้นเรือชาวบ้านสาละวินชิ้นนี้ แม้เป็นเหมือนสะเก็ดดาวตกเล็กๆ ที่เปล่งแสงวูบผ่านท้องฟ้าสาละวินในช่วงสั้น แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารไทยและทหารพม่าได้ชัดเจน
หากคำอธิบายของทหารไทยเป็นไปในลักษณะว่า “เรายังไม่ได้รับรายงานและกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง” หรือ “กองทัพพม่าชี้แจงผ่านกองทัพไทยว่า…” ก็จะดูไม่กระไร แต่พลันที่เพจของกรมทหารพรานที่ 36 ออกตัวชัดว่า “เป็นเรื่องเข้าใจผิด” พร้อมทั้งชี้แจงแทนทหารพม่า เป้าใหญ่จึงตกไปอยู่กับทหารไทย
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่อันดุเดือดสนั่นไปทั้งลุ่มน้ำสาละวิน และไม่แปลกที่เพจกรมทหารพราน 36 และ เพจของกรมประชาสัมพันธ์ (สวท.แม่สะเรียง) จึงต้องลบโพสต์ทิ้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่า พลเอกมิน อ่อง หลาย ผู้นำทหารพม่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพไทย ผ่านสายสัมพันธ์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เมตตาพลเอกมิน อ่อง หล่าย ประดุจบุตรบุญธรรม
ความสัมพันธ์ของผู้นำกองทัพทั้ง 2 ส่งผ่านไปถึงนายทหารที่คุมกองกำลังตามชายแดนไทย-พม่า
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ทหารไทยยอมให้ข้าวสาร 700 กระสอบและเสบียงอีกจำนวนหนึ่งของกองทัพพม่า ส่งข้ามแผ่นดินไทย ผ่านข้ามด่านแม่สอด จ.ตาก มายังท่าเรือบ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเตรียมส่งต่อไปยังฐานทหารพม่าริมแม่น้ำสาละวิน แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวหลุดเป็นข่าวเสียก่อน ทำให้ข้าวสารและเสบียงชุดดังกล่าวไปไม่ถึงฐานทหารพม่า ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
การปิดกั้นเส้นทางลำเลียงเสบียงของ KNU ในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ทหารพม่าไม่พอใจ และยิ่งโกรธมากขึ้นเมื่อเส้นทางลำเลียงผ่านแดนไทยถูกเปิดโปง จนกลายเป็นเหตุหนึ่งของการส่งเครื่องบินรบโจมตีฐานบัญชาการใหญ่ของ KNU กองพล 5 บ้านเด่ปูโหน่ จนชาวบ้านกว่า 7 หมื่นคนต้องอพยพหนีตายหลบเข้าไปอยู่ในป่า และนับพันคนหนีข้ามสาละวินเข้ามาหลบบนฝั่งไทย
บทบาทของทหารพรานที่ 36 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อตั้งด่านปิดกั้นเส้นทางการเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด โดยมีเป้าหมายสกัดกั้นสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันได้มีการเร่งรีบผลักดันชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนและยังตกอยู่ในอาการหวาดกลัวให้กลับฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ในขณะที่ยังเสี่ยงต่อความปลอดภัย
พื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินช่วงไหลชายแดนไทยมีความซับซ้อนทางอำนาจ เพราะประกอบด้วยกองกำลังจากหลายฝ่าย ทั้งทหารพม่า ทหาร KNU ทหาร BGF (กองกำลังพิทักษ์ชายแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทหารพม่าจัดตั้งขึ้น) แม้กระทั่งฝั่งไทยเองก็ยังมีกองกำลังจากหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ
ขณะที่ประชาชนสองฝั่งสาละวินส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะเป็นประชากรแฝงของใครหรือไม่ แต่ปัจจุบันเมื่อรัฐไทยขีดเส้นพรมแดนและผนวกพื้นที่ที่เคยเป็นของชาวกะเหรี่ยงมาเป็นแผ่นดินไทย นโยบายในพื้นที่เช่นนี้จึงต้องมีความละเอียดอ่อนและคำนึงถึงความรู้สึกของคนดั้งเดิมเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการใดๆ ที่ลอยมาเพราะผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่คนท้องถิ่นต้องเสียสละ เช่น โครงการผันแม่น้ำยวม-สาละวิน สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟ เพราะถูกมองได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่และเอื้อประโยชน์ให้ทหารพม่าแทรกเข้ามา
รัฐไทยล้มเหลวในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์เลือดที่ยังบันทึกไม่เสร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงประชาชนดั้งเดิมที่เป็นชุมชนมุสลิม
วันนี้ทหารไทยมีสัมพันธภาพที่ดีกับทหารพม่า ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายร้อยปี แต่ความใกล้ชิดระหว่างบุคคลหรือระหว่างกองทัพ ควรมาทีหลังผลประโยชน์ของบ้านเมือง
อย่าสร้างบันทึกประวัติศาสตร์เลือดหน้าใหม่ชายแดนเหนือริมแม่น้ำสาละวินอีกเลย