ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 เป็นประธานมอบโล่ห์เงินรางวัล เกียรติบัตร ให้กับ 10 โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่วิกฤตฝุ่นจากควันไฟ ตามโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น”
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 นางพุฒชาด จันทร์ดำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 เป็นประธานมอบโล่ เงินรางวัล เกียรติบัตร ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนต้นแบบในการรับมือกับฝุ่นในพื้นที่วิกฤต หรือโครงการ “ ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ณ โรงแรมปอยคอทเทจ บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับ 10 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับที่ 1 ได้แก่โรงเรียนขุนยวม อ.ขุนยวม ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท อันดับ 2 โรงเรียนชุมชนบ้านผาบ่อง อ.เมือง เงินรางวัล 7,000 บาท อันดับ 3 โรงเรียนบ้านแม่สะเป่ใต้ อ.ขุนยวม เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนโรงเรียนที่เหลืออีก 7 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนบ้านท่าโป่งแดง , โรงเรียนอนุบาลเมืองป่าปุ๊มิตรภาพที่ 29 ,โรงเรียนบ้านห้วยเสือเฒ่าเจ้ากอแก้วอุปถัมภ์ ต.ผาบ่อง อ.เมือง ,โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง,โรงเรียนบ้านคาหาน ต.ห้วยผา อ.เมือง ,โรงเรียนบ้านป่าลาน ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง และโรงเรียนขุนยวม ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม ได้รับเกียรติบัตร
นางพุฒชาด จันทร์ดำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 กล่าวว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง โดยห้างหุ้นส่วนเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาวะทางกาย จิต ปัญญา และสังคม อันนำไปสู่การมีร่างกายแข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว ซึ่งโครงการโรงเรียนต้นแบบในการรับมือกับฝุ่นในพื้นที่วิกฤติ หรือ”ห้องเรียนสู้ฝุ่น” มาจากปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ที่เกิดจาการเผาป่าในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการเผาในพื้นที่ป่า
ในฤดูแล้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน พบการเกิดจุดไฟป่า Hotspot หรือจุดความร้อน และค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในเด็กและเยาวชน ซึ่งทั้ง 10 โรงเรียนดังกล่าว เป็นโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นโรงเรียนที่พบจุด Hotspot เป็นประจำทุกปี ซึ่ง “ ห้องเรียนสู้ฝุ่น”ทั้ง 10 โรงเรียน ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ผนวกสู่กิจกรรมเสริมการเรียนการสอนหลักสูตรในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านค่าฝุ่นรายวันจากเครื่องฝัดฝุ่น ยักษ์ขาว ธงสุขภาพ การรู้จักจุด Fire Hotspot จากภาพถ่ายดาวเทียม และมีการวัดผลการเรียนรู้ผ่านข้อสอบในระบบ Online ตลอดจนรุปแบบการเรียนการสอนอื่น ๆ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นละออง การป้องกันและการแก้ปัญหาไม่ให้มีการจุดไฟเผาป่าในพื้นที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น