กองทัพบกใช้ศักยภาพสัตว์บรรทุกต่างลาดตระเวนร่วมกำลังพล ลดความตรากตรำ ในการป้องกันชายแดน
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
พันตรีหญิง จุฑาทิพย์ วุฒิรณฤทธิ์ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า การนำสัตว์บรรทุกต่างมาใช้ในภารกิจป้องกันชายแดนสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นหนึ่งในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งสัตว์บรรทุกต่างได้ถูกฝึกฝนให้ปฏิบัติในภารกิจดูแลแนวชายแดน การบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือกำลังพลในการเดินเท้าลาดตระเวน ดูแลตลอดแนวชายแดน สามารถช่วยการตรวจการณ์ และเพิ่มระยะในการปฏิบัติภารกิจได้มากขึ้นครอบคลุมในพื้นที่ปฏิบัติการ โดยการนำกำลังและสัตว์บรรทุกต่างเข้าปฏิบัติการในแต่ละภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ
กองกำลังผาเมือง ใช้ล่อ 24 ตัวปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนและขนส่งสิ่งอุปกรณ์ให้กลับฐานปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลโดยกรมการสัตว์ทหารบกได้สนับสนุนตั้งเพิ่มเติมอีก 10 ตัว ใน 4 พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเพิ่มความถี่ในการปฏิบัติงาน
กองกำลังนเรศวร พื้นที่ปฏิบัติการเป็นป่าและภูเขาสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ใช้ม้าลาดตระเวน ส่วน ล่อ นำส่งน้ำและเสบียงให้กับกำลังพลในฐานปฏิบัติการในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า, อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยเป็นสัตว์บรรทุกต่างจาก กรมทหารราบที่ 14 และโครงการอาชาบำบัด 58
กองกำลังสุรสีห์ มีการใช้สัตว์บรรทุกต่างเข้าพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรีเพื่อลาดตระเวนและส่งกำลังบำรุงในพื้นที่ที่ยานพาหนะไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยใช้กำลังพลพร้อมล่อ 4 ตัว ส่งสิ่งอุปกรณ์จำเป็นให้กับ กองร้อยทหารพรานที่ 1106 ใน 3 ฐานปฏิบัติการ ได้แก่ ช่องทางกระซุ้ง, บ.พุระกำ และ ช่องทางพุระกำ และดำเนินการใช้ล่อ 6 ตัว นำอุปกรณ์ลวดหนามหีบเพลงส่งให้กับ กองร้อยทหารพรานที่ 1103 ณ ฐานปฏิบัติการช่องทางโป่งแห้ง
กองกำลังบูรพา ทำการลาดตระเวนด้วยม้าตามเส้นทาง/พื้นที่ตามแนวชายแดน 4 อำเภอ ได้แก่อ.ตาพระยา, อ.โคกสูง, อ.อรัญประเทศ และ อ.คลองหาด เพื่อเสริมการปฏิบัติในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การลาดตระเวนด้วยม้านั้น มีคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน อาทิ ตรวจการณ์ได้ในระยะไกลเข้าถึงพื้นที่ที่มีเส้นทางที่ยากลำบากทำให้หน่วยสามารถลาดตระเวนได้เป็นบริเวณกว้างมากขึ้นภายใต้ระยะเวลาเท่าเดิม โดยได้รับกาสนับสนุนม้าจาก กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และกองพันทหารม้าที่ 30 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สามารถช่วยเสริมการปฏิบัติภารกิจ และลดความตรากตรำของกำลังพลได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ต้องการให้ใช้ทรัพยากรของกองทัพบกที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และอนุรักษ์กำลังรบ โดยเฉพาะกำลังพลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศยากลำบาก เพื่อเป็นกองทัพบกที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส