ท่ามกลางสถานการณ์โควิดแบบนี้ ใครที่ชอบท่องเที่ยวก็อาจจะได้รับผลกระทบทางจิตใจอยู่บ้าง เพราะอาจจะต้องกักตัว ทำงานอยู่บ้าน แม้จะมีเวลาว่าง แต่ก็ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ และด้วยเหตุนี้เองจึงส่งผลกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ เพราะเมื่อคนไม่สามารถเดินทางได้เหมือนอย่างเคย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมไปถึงการค้าขายในพื้นที่ ร้านอาหาร โรงแรม ลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบหมด
แต่ “อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้ก็ยังอยากที่จะพาไปท่องเที่ยวด้วยกันอยู่ดี เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ในการท่องเที่ยวบางครั้งก็อาจจะมาพร้อมกับการอ่านได้เช่นเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้เรากำลังจะขึ้นไปภาคเหนืออีกครั้ง และไปอยู่ในจุดที่หลายๆ คนยังไม่เคยไป รวมถึงผู้เขียนด้วย ไปอยู่ในอำเภอที่อาจจะเป็นแค่ทางผ่านของใครหลายๆ คน นั่นก็คือ อำเภอแม่สะเรียง หนึ่งใน 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในช่วงนั้นเรายังพอที่จะสามารถเดินทางได้สะดวกกว่าช่วงนี้ ภายใต้การกำกับดูแลอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการเดินทางไปพร้อมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อลงพื้นที่ไปตรวจโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่เหาะ โดยการเดินทางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ และนั่งรถยาวๆ ต่อไปยังแม่สะเรียง
หลังจากถึงพื้นที่แล้วรับประทานอาหารกลางวัน จากร้านอินทิราที่ถือว่าเป็นร้านเด็ดในย่านนี้ ซึ่งเมนูเด็ดของที่นี่คือเมนูที่ทำจากปลาแม่น้ำสาละวิน…หลายคนคงมีคำถามในใจ รวมถึงผู้เขียนเองด้วยว่า ปลาแม่น้ำสาละวิน คือปลาอะไร? จากความสงสัยนี้จึงได้สอบถามคนในพื้นที่และได้คำตอบมาว่า “ก็เป็นปลาจากแม่น้ำสาละวินนั่นแหละ” ฟังจากคำตอบแล้วคงไม่สามารถคลายความสงสัยได้ จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการค้นหา
จึงพบว่า…พันธุ์ปลาจากแม่น้ำสาละวินนั้นมีเยอะมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าปลาแม่น้ำที่เราได้ทานนั้น คือชนิดไหน แต่ถ้าจะให้บอกรสสัมผัสจะคล้ายๆ ปลาบึก ปลาคัง หรือปลาสวายบ้านๆ เรานี่แหละ…แม้จะไม่ได้คำตอบที่กระจ่างมากนัก แต่เมนูหลากหลายที่ทำจากปลาแม่น้ำสาละวินก็ถือว่าอร่อยจนทำให้อิ่มจนพุงกางได้ พร้อมเดินทางต่อ
จากจุดรับประทานอาหาร ก็เดินทางขึ้นไปยังพื้นที่ของ อบต.แม่เหาะ เพื่อเดินทางไปยัง บ้านกิ่วลม อ.แม่สะเรียง ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐตามแผนการลงพื้นที่ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งอีกหนึ่งพื้นที่นั่นก็คือบ้านแม่กะไน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถือว่าห่างไกลความเจริญเป็นอย่างมาก จะต้องนั่งรถขึ้นเขาไปกว่า 1 ชั่วโมง ตลอดสองข้างทางจะเป็นหน้าผา ซึ่งคนขับรถจะต้องมีสติและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก
แต่จากการเดินทางครั้งนี้ก็ได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของแม่สะเรียงได้อีกทางหนึ่ง ทิวทัศน์ที่มีภูเขาสลับสับซ้อนกันและไกลสุดลูกหูลูกตา เป็นวิวที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นเท่าไหร่ และเมื่อเปิดกระจกรถไปก็จะได้สัมผัสกับอากาศที่บริสุทธิ์พร้อมกับชมธรรมชาติที่สวยงาม ทำเอาเพลินมากๆ กับการเดินทางครั้งนี้ แม้จะต้องมีให้ลุ้นอยู่หลายๆ จุด แต่ก็คุ้มที่ได้ขึ้นไปชมด้วยตาของตัวเอง
ในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีน้ำประปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เดิมผู้คนที่นั่นจะต้องเดินไปหาบน้ำจากลำธารขึ้นมาใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค แต่ด้วยโครงการของกระทรวงพลังงาน ที่สนับสนุนงบประมาณในการขึ้นมาพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ เพื่อให้สามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำและนำไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้ จนทำให้การดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ดังกล่าวมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
หลังจากจบภารกิจก็เดินทางเข้ามายังตัวอำเภอแม่สะเรียงเพื่อพักผ่อน ในช่วงนั้นจึงมีเวลาว่างนิดหน่อยในการเดินสำรวจเมือง ตลอดถนนสายหลังที่คู่ขนานไปกับแม่น้ำยวมนั้น เห็นได้ว่าจะมีโรงแรม บ้านพัก เกสต์เฮาส์ รวมถึงร้านขายของและร้านอาหารตลอดสาย แต่สิ่งที่ผิดปกติคือความคึกคักที่ลดลง ร้านบางร้านปิด โรงแรมหรือที่พักบางแห่งปิด เนื่องจากในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวก็น้อยลง
ผู้เขียนได้รับการการันตีจากผู้ที่เคยมาเยือนแม่สะเรียงในช่วงที่สถานการณ์ปกติว่า แม่สะเรียงคึกคัก และสวยงามกว่านี้ ผู้คนเดินจอแจเต็มถนนสายหลัก หลายที่พักต้องจองล่วงหน้าถึงจะได้เข้าอยู่ ร้านอาหารและสถานที่ต่างๆ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเยอะมาก ทุกอย่างสนุกกว่านี้ แต่แม้วันนี้จะเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่เสน่ห์ของแม่สะเรียงก็ยังทำให้คิดถึงอยู่ตลอดเวลา
เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว ความคึกคักของแม่สะเรียงจะกลับมา สีสันกับบรรยากาศที่สวยงามจะกลับมาเป็นเหมือนอย่างที่เคยเป็น และในวันนั้นเองเชื่อว่านักท่องเที่ยวคนไทยหลายๆ คน รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยก็จะกลับไปเยือนแม่สะเรียงอีกครั้ง หรือใครที่ยังไม่เคยไปก็อยากให้ปักหมุดไว้เลยว่าจะต้องไปให้ได้ จะต้องไปชมบรรยากาศที่อบอุ่นนั้นให้ได้.