เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมคะเรนนี (Karenni Civil Society Network) ได้เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐคะเรนนี หลังรัฐประหารในพม่าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า ในพื้นที่รัฐคะเรนนี หรือรัฐคะยา (ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.ขุนยวม และ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน) มีการก่อตั้งกองกำลังประชาชนคะเรนนี (KPDF) เพื่อตอบโต้ความรุนแรงและการรัฐประหารโดยกองทัพพม่า โดยนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 พฤษภาคมเป็นต้นมา มีการโจมตีประชาชนโดยทหารกองทัพพม่าแทบทุกวัน โดยเฉพาะในเมืองหลักของรัฐคะเรนนี อาทิ ลอยก่อ เดมอโส่ พรูโส่ ผาซอง และบอลาเค โดยกองทัพทหารพม่าใช้เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่ โจมตีอาคารบ้านเรือนและโบสถ์ ทหารพม่าและพลแม่นปืนยิงสังหารประชาชนที่พบเห็น โดยกองทัพพม่ามีการเสริมกำลังทหารใน 18 กองพัน จำนวนกว่า 2,000 นาย ในรัฐคะเรนนี การโจมตีประชาชนดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนราว 100,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ซึ่งนับเป็น1 ใน 4 ของจำนวนประชากรรัฐคะเรนนีทั้งหมด โดยขณะนี้ประชาชนต่างหลบภัยการสู้รบอยู่ในป่าเขาตามพื้นที่ต่างๆ
กลุ่มประชาสังคมคะเรนนีระบุในรายงานว่า ประชาชนเหล่านี้กำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ในฤดูฝนที่ไม่มีที่พักพิง ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องบรรเทาทุกข์ เนื่องจากเส้นทางทั้งหมดจากชายแดนไทยและภายในพม่า ถูกตัดขาดโดยทหารพม่า ซึ่งปัจจุบันทีฐานทหารพม่าในรัฐคะเรนนี 21 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นกองพันปืนใหญ่ 3 แห่ง และยังมีนักเรียนทหารในโรงเรียนฝึกทหารพม่าหมายเลข 14 อีก 700 นาย ที่เมืองพรูโส่ ซึ่งโรงเรียนฝึกทหารแห่งนี้สร้างบนที่ดินที่ยึดมาจากชาวบ้านใน 2 หมู่บ้านเมื่อปี คศ. 2012
“การโจมตีและถอนรากถอนโคนประชาชนในรัฐคะเรนนี เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี คศ.1996-1997 (พศ.2539-2540) โดยกองทัพพม่ามุ่งเน้นกวาดล้างกองกำลังชาติพันธุ์และประชาชนด้วย ยุทธการสี่ตัดในเวลานั้น ชาวคะเรนนีกว่า 40,000 คน จาก 200 หมู่บ้าน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และจำนวนหนึ่งหนีภัยสงครามมายังชายแดนไทย สิ่งที่กองทัพเผด็จการพม่ากำลังกระทำอยู่ในขณะนี้เป็นดังโศกนาฏกรรมที่เราเคยเผชิญมาก่อน ทหารพม่ามุ่งทำลายกองกำลังประชาชน KPDF โดยมุ่งเป้าโจมตีประชาชน บ้านเรือน โรงเรียน โบสถ์ และสังหารใครก็ตามที่พบเห็น” กลุ่มประชาสังคมคะเรนนี ระบุในรายงาน และว่าจากการสำรวจล่าสุดพบว่าในเขตลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี มีประชาชนหนีไปหลบหนียังจุดพักพิงชั่วคราวในป่า จำนวน 9 แห่ง 13,061 คน เมืองเดมอโส่ มีจุดพักพิง 91 แห่ง 55,265 คน เมืองเปกอน มีจุดพักพิง 15 แห่ง 30,000 คน เมืองแมเส็ก (ใกล้ชายแดนไทย) 1,000 คน เมืองผาซอง (ติดแม่น้ำสาละวิน ใกล้ชายแดนไทย) 4,000คน เมืองบอลาเค 300 คน รวมทั้งสิ้น 107,084 คน
กลุ่มคะเรนนีระบุในรายงานว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้รุนแรงมากที่สุด และเรียกร้องให้กองทัพพม่า 1.ยุติการเข่นฆ่าประชาชนในรัฐคะเรนนีและทั่วประเทศพม่า 2 .ยุติการปิดกั้นเส้นทางขนส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่น ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานบรรเทาทุกข์ทั้งในพม่าและจากต่างประเทศต้องการช่วยเหลือโดยด่วน และ 3.ทหารพม่าต้องลงจากอำนาจอันมิชอบธรรมนี้และสร้างประชาธิปไตยในพม่าในรูปแบบสหพันธรัฐ
นอกจากนี้กลุ่มคะเรนนียังได้เรียกร้องให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์จากต่างประเทศให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้พลัดถิ่นโดยประสานงานกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และยุติทุกช่องทางที่อาจเป็นการสนับสนุนเผด็จการทหารพม่า และชะลอการสนับสนุนกระบวนการเจรจาหยุดยิงในพม่า (NCA) ซึ่งหมดอายุแล้ว
สำหรับสถานการณ์ด้านชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งทางการไทยได้ผลักดันกลับผู้ลี้ภัยกลับไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เพจของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ได้โพสว่าล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ประชาชนส่วนใหญ่จากแถบเดปู่โน่ (ในรัฐกะเหรี่ยง เขตกองพล 5 ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU) กลับไปอยู่ “ใกล้” กับชุมชนเดิม พวกเขามักไม่นอนในหมู่บ้าน หากออกไปทำกระท่อมอยู่ในไร่หมุนเวียนที่ถางใหม่ หรือถางไว้เดิมก่อนจะหลบหนี สมาชิกที่แข็งแรงพร้อมหนีได้ทัน อาจวนเวียนกลับเข้าบ้านเพื่อดูแลทรัพย์สินเป็นครั้งคราวการกระจายตัวอยู่ในไร่และป่าเขาทำให้ปลอดภัยมากกว่าอยู่เป็นเป้าในตัวชุมชนเดิม
จริง ๆ แล้ว จังหวัดมื่อตรอไม่ได้สงบเงียบ การสู้รบยังหนักหนาอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปาปุน หรือ ผาปูน ห่างไปทางใต้จากเดปู่โน่ ในระยะเดินเรือราว 2-3 ชั่วโมง บริเวณนั้นมีฐานทัพพม่าขนาดใหญ่ ฐานเล็กฐานน้อยที่เคยวางยุทธศาสตร์ให้กระจายทั่วมื่อตรอถูกเรียกเข้ามารวมกำลังพลกันก็มากเพราะเกรงว่าจะถูกกองทัพ KNU โจมตีได้ง่าย เมื่อประกอบด้วยกำลังเสริมจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (ในกำกับของกองทัพพม่า) ที่ถูกเรียกมาจากเมียวดีแล้ว ฐานใหญ่ของกองทัพพม่าระดับกำลัง 70-80 คนก็กระจายอยู่หลายแห่ง
นอกจากนี้ ยังมีข่าวล่าสุดว่า กองทัพพม่าจะได้รับระเบิดมาเข้าคลังแสงเพิ่ม พร้อมที่เครื่องบินรบจะออกปฏิบัติการเร็ว ๆ นี้ ชาวบ้านที่ทำไร่ไถนาอยู่ใกล้เดปู่โน่ไม่ได้อยู่อย่างสุขสงบ ทว่า พวกเขาปรับความหวาดกลัวให้เป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน เมื่อยืนยันที่จะไม่ละทิ้งถิ่นฐานและปล่อยให้มันตกเป็นของกองทัพพม่าเสียแล้ว พวกเขาก็เตรียมพร้อม ทั้งในด้านการกระจายตัวให้ไม่ตกเป็นเป้า ตระเตรียมแผนและสถานที่หลบภัย จัดระบบการกระจายความช่วยเหลือ ตลอดจนการสื่อสารส่งข่าวให้ทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ การเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสีย ยังหมายถึงการลดความจำเป็นที่จะต้องข้ามมาฝั่งไทยให้มากที่สุดด้วย
นี่คือการยืนหยัด และดื้อแพ่งโดยสันติของชาวบ้านกะเหรี่ยงมื่อตรอ ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาจะอยู่ในบ้านเกิด และจะดำรงชีวิตต่อไปให้จงได้ ครอบครัวจะปลูกข้าวเพื่อวันข้างหน้า แม้ในวันนี้ยังต้องพึ่งพาอาหารบริจาค เด็กจะไปโรงเรียน แม้มันจะต้องมุงหลังคาผ้าพลาสติกแทนหลังคาเดิมที่ถูกระเบิดเสียหาย
2021-06-27