สถานการณ์ชายแดนฝั่งตะวันตก…พรมแดนไทย เมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดูเหมือนว่าบรรยากาศจะเริ่มสงบลงบ้างแล้ว หลังจากการโจมตีพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงโดยเครื่องบินรบของกองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้น 2 ระลอกในช่วงเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ศูนย์สั่งการชายแดนไทยเมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า มีราษฎรเดินทางข้ามมายังประเทศไทย จากเหตุความไม่สงบ พักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง รวม 1,775 คน ขณะที่เครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยงระบุว่ายังมีประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงที่หลบหนีซ่อนตัวอยู่ในป่าอีกอย่างน้อย 20,000 คน
เนื่องจากมีเครื่องบินและโดรนตรวจการณ์ของกองทัพเมียนมา ส่งมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดเสวนาเรื่อง “มนุษยธรรมริมฝั่งสาละวิน” โดย ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จ.แม่ฮ่องสอน และ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์และสื่อสาร องค์กรแม่น้ำนานาชาติ
สันติพงษ์ สะท้อนว่า ชาวบ้านที่หนีภัยต้องกระจายตัวหลบอยู่ตามป่าเขา เพราะถ้ารวมกันจะกลายเป็นเป้า ปัญหาคือ…การเข้าไปช่วยเหลือ การส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์จากการบริจาคเป็นไปได้ยากมาก เพราะแนวทางที่ชัดเจนและถูกต้องยังไม่มี ที่ผ่านมาต้องอาศัยวิธีการสารพัดทุกรูปแบบ ทั้งๆที่สิ่งของที่นำเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น อาหาร ยารักษาโรค เต็นท์ เสื่อ
ประเด็นน่าสนใจมีว่าในรอบเดือนนี้ คนที่หลบหนีเข้าประเทศไทย ถูกผลักดันกลับแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง…“เราพยายามพูดคุยกับทหารที่ควบคุมพื้นที่ว่าอย่าเพิ่งส่งประชาชนผู้หนีภัยกลับได้หรือไม่ ความปลอดภัยเป็นเรื่องจำเป็นสูงสุด เราจึงวิงวอนว่าอย่าผลักเขากลับไป เรื่องมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ปกติคนในลุ่มน้ำสาละวินฝั่งเมียนมานับหมื่นคน อาศัยปัจจัยการดำรงชีพเอามาจากฝั่งไทย”
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 1 ปีที่ผ่านมา ไทยมีมาตรการปิดพรมแดน พวกเขาแทบไม่มีข้าวสารกิน เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ที่ถูกทหารเมียนมาปราบปรามพวกเขา ชาวบ้านจึงไม่มีทั้งเงินและไม่มีแหล่งที่จะซื้อข้าวสาร ที่ผ่านมาเราได้รับข้าวของบริจาคจำนวนมาก ทั้งข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึง…ตุ๊กตาเด็กๆ
เพื่อให้เขาหายเครียดจากภาวะสงคราม แต่ยังไม่สามารถเอาเข้าไปให้ได้
“สังคมไทย” เข้าใจเรื่อง “ผู้หนีภัย” ดีพอสมควร เห็นได้จากของบริจาค ที่ประชาชนชาวไทยส่งมากันเป็นจำนวนมาก แต่ทางการยังไม่อนุญาตให้ เปิดเส้นทางนำส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปถึงผู้ลี้ภัย
เรื่องเร่งด่วนสำคัญคือเรื่อง…“อาหาร” ช่วงเดือนที่ผ่านมายังไม่สามารถส่งข้าวของบริจาคชุดใหญ่เข้าไปได้อีกเลย ชาวบ้านทางฝั่งไทยไม่สามารถทนเห็นเพื่อนบ้านตายไปต่อหน้าต่อตาได้ จึงเก็บรวบรวมข้าวสารบ้านละ 1-2 ถังนำไปช่วยเหลือ จึงเห็นว่ากลไกท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ต้องทำงานเป็นชุมชนคู่ขนานร่วมกันไป ขอบคุณน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันเยอะมาก อยากฝากถึงภาครัฐให้รีบเปิดเส้นทางส่งของ…
จะทำให้รัฐบาลไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ…ไม่อยากให้ใครมาตำหนิ
“ประเทศไทย” เพียรพร ดีเทศน์ เสริมว่า ชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำสาละวินมานานนับร้อยปี ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งรัฐชาติ แม่น้ำสาละวินกลายเป็นพรมแดนกั้นระหว่างรัฐไทย-เมียนมา เมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมา ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องอพยพข้ามมาฝั่งไทย
“ชาวบ้านฝั่งไทยต่างก็อยากช่วยเหลือพี่น้องที่อยู่ฝั่งเมียนมาแต่ทำไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงกลัวว่าชาวบ้านที่หนีมาหลบภัยเหล่านี้จะไม่กลับ ภูมิลำเนาของตน ซึ่งที่จริงแล้ว ชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นประชาชนที่อาศัยในป่าที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานสันติภาพสาละวิน… Salween Peace Park”
ป่าที่ว่านี้ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติจาก UNDP (Equator Prize) และรางวัล Goldman Environmental Prize เนื่องจากเป็นเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงกว่า 300 ชุมชน ที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าและแม่น้ำ ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่คนยากจน แต่มีความมั่งคั่งในทรัพยากร
พวกเขาเหล่านี้มี “วิถีชีวิต” และ “ภูมิปัญญา” ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“ชาวบ้าน” ที่หนีภัย “ความตาย” มาฝั่งไทย อาศัยอยู่กันอย่างทุลักทุเล มีทั้งเด็กแรกเกิด ผู้ป่วย คนชรา ผู้หญิง ทุกคนต่างรอวันกลับบ้าน ดังนั้น…ระหว่างนี้ที่เขารอความช่วยเหลือ รัฐไทยจึงควรให้ความช่วยเหลือเพราะผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ก่อปัญหา…ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศใดๆ
ตรงกันข้าม…หาก “รัฐไทย” ปิดกั้นจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายมากกว่า ที่สำคัญคือ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย เป็นการที่ประชาชนช่วยประชาชน มีหลายชุมชนที่รับของบริจาคมามากมาย ควรได้รับการสนับสนุนให้นำไปช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน ไม่ใช่ถูกสกัดกั้น
“รัฐไทย”…ต้องเปิดเส้นทางให้ประชาชนเข้าไป “ช่วยเหลือ” ในทันที
ย้ำว่า…ต้นทางของปัญหาที่ประชาชนหนีภัยเกิดจากรัฐบาลทหารเมียนมาใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมที่หมู่บ้าน โจมตีพลเรือน มีคนตาย บาดเจ็บ บ้านเรือน โรงเรียนเสียหาย ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนี รัฐไทยต้องยืนเคียงข้างประชาชนของประเทศเมียนมา หากเกิดสันติภาพชาวบ้านก็จะกลับไปภูมิลำเนาในทันที
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี บอกว่า ตอนนี้ทั่วโลกพุ่งสายตามาที่ประเทศไทยเพราะมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ผู้หนีภัยย่อมหนีมาพื้นที่ใกล้ที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยเรื่อยมา
แม้เราไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ปี 1951 แต่…ไทยเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) การที่ไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปแล้ว 2 ครั้ง และปิดกั้นไม่ให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งอาหาร ยา ที่พักอาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัย ฯลฯ
ถือว่า…เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รัฐไทยต้องไม่ส่งคนกลับไปสู่อันตราย สู่สถานการณ์การประหัตประหาร โดยเฉพาะต้องไม่ส่งเด็กๆกลับไปในพื้นที่ที่เสรีภาพและความปลอดภัยถูกคุกคาม โดยต้องยึดหลักการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี
ถึงตรงนี้ ดร.ศรีประภา ขอสรุปข้อเสนอดังนี้ ข้อที่หนึ่ง…รัฐไทยควรกำหนดนโยบายเร่งด่วนเป็นศูนย์แรกรับผู้ลี้ภัย ไม่ควรปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปกว่านี้ โดยควรมอบให้ฝ่ายปกครอง
นั่นก็คือ…กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบแทนทหารหรือหน่วยงานความมั่นคงรวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือด้านหลักมนุษยธรรม
ข้อที่สอง…การทูตภาคประชาชน คือประชาชนฝั่งไทยที่พยายามหาช่องทางช่วยเหลือพี่น้องลุ่มน้ำสาละวิน ให้ปลอดภัยจากสถานการณ์สู้รบ ควรได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินการต่อไปเพราะมีบทบาทสำคัญมาก
ข้อที่สาม…สื่อมวลชน ควรทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้ลี้ภัย และสื่อสารให้สังคมเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย
สถานการณ์พรมแดนไทยเมียนมายังคงคุกรุ่น…ไม่มีใครรู้ “ชะตากรรม” ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
ตั้งหวังกันว่า…การช่วยเหลือตามหลัก “มนุษยธรรม” จะเกิดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำสาละวินโดยเร็วที่สุด.