เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
MGR Online – เจ้ายอดศึกออกแถลงการณ์เผยแพร่ 5 ภาษา ในโอกาสครบรอบ 63 ปี “วันปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” เรียกร้องทุกฝ่ายในพม่าให้หันหน้ามาเจรจากันโดยสันติวิธี เพื่อหาทางออกให้แก่สถานการณ์ขัดแย้งในประเทศ
เช้าวันนี้ (21 พ.ค.) ที่ฐานบัญชาการใหญ่ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) บนดอยไตแลง ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีพิธีเฉลิมฉลองวัน “ปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” ครบรอบ 63 ปี ขึ้นเป็นการภายใน มิได้มีการเชิญแขกเหรื่อจากภายนอกขึ้นไปร่วมงานเหมือนในอดีต ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองภายในพม่า
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ RCSS ได้ออกแถลงการณ์เผยแพร่เป็น 5 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทใหญ่ พม่า อังกฤษ ไทย และภาษาจีน
เนื้อหาในแถลงการณ์ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าอยู่ในขณะนี้ โดย RCSS ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติวิธี
สำหรับความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่กำลังมีการสู้รบกันอยู่นั้น ขอให้ยึดเนื้อหาในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่ได้เซ็นกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 เป็นแนวทางหนึ่งในการเจรจาพูดคุย แม้ว่าอาจยังไม่ใช่แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่หากก่อตั้งสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้แล้ว จึงค่อยหาหนทางแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ต่อไป (รายละเอียดดูในเอกสารเผยแพร่ของ RCSS ฉบับภาษาไทย)
ชาวไทใหญ่กำหนดให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” โดยเมื่อ 63 ปีก่อน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก 31 คน ดื่มน้ำสาบานรวมตัวกันเป็น “กองกำลังหนุ่มศึกหาญกอบกู้เอกราชสู่รัฐชาน” จับอาวุธซึ่งในตอนนั้นมีปืนอยู่เพียง 17 กระบอก เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่รัฐชาน
ที่มาของการจับอาวุธขึ้นสู้ เนื่องจากกองทัพพม่าไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่เขียนไว้ในสนธิสัญญาปางโหลง ที่หลายฝ่ายได้ร่วมลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 ซึ่งระบุว่า หลังดินแดนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว 10 ปี รัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ร่วมลงนาม สามารถแยกตัวออกเป็นอิสระได้
แต่เพียง 2 ปี หลังจากอังกฤษให้เป็นอิสระแก่พม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 ในปี 2493 กองทัพพม่ากลับส่งกำลังทหารขึ้นมาประจำการอย่างถาวรทั่วรัฐชาน อ้างเหตุผลเพื่อปราบปรามกองกำลังก๊กมินตั๋ง ที่กำลังพ่ายแพ้ต่อกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ และถอยร่นลงมาอยู่ในพื้นที่รัฐชาน และจากนั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะให้เอกราชแก่รัฐชานตามที่ได้สัญญากันไว้ เมื่อครบกำหนด 10 ปี ตามที่เขียนไว้ในสนธิสัญญาปางโหลง การต่อสู้จึงเริ่มต้นขึ้น
เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เป็นบุตรชายของเจ้าก่ำ เจ้าผู้ปกครองเมืองมาวโหลง ภาคเหนือสุดของรัฐชาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้เข้าร่วมรบโดยสังกัดกองทัพอังกฤษ ได้รับยศทางทหารเป็นร้อยโท และถูกส่งไปประจำการอยู่ในอินเดีย
การจัดตั้งกองกำลังหนุ่มศึกหาญของเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ถือเป็นต้นกำเนิดของกองทัพรัฐชาน (Shan State Army : SSA) ที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง โดยปัจจุบัน SSA มีอยู่ 3 กองทัพ ได้แก่ กองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) และกองทัพเมืองลา (NDAA).