ต่างประเทศ
ฐานด๊ากวินเดือดแล้ว! เผด็จการทหารเมียนมาเปิดฉากยิงถล่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยู
วันพฤหัสบดี ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 15.11 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น.ทหารพม่าประจำฐานฯด๊ากวิน พิกัด LV 611998 ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้ทำการยิงปืน ค.60 มม.จำนวนประมาณ 70-80 นัด บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฐานฯด๊ากวิน หลังจากถูกทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ทำการซุ่มยิงด้วยอาวุธปืนซุ่มยิงระยะไกล ขนาด .50 คาลิเบอร์ ทำให้มีทหารพม่าเสียชีวิต จำนวน 1 นาย
แหล่งข่าวราษฎรบ้านท่าตาฝั่ง ฯ เปิดเผยในวันนี้ ( 20 ) ว่า หลังจากถูกซุ่มยิงจาก ทหารกะเหรี่ยง เคเอ็นยู ทหารพม่า ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจากับทหารไทยประจำฐานบ้านท่าตาฝั่ง และแจ้งแก่ทหารไทยว่า ห้ามไม่ไห้ทหารไทย สนับสนุนทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ด้วยการให้ใช้พื้นที่ในไทย ยิงก่อกวนทหารพม่า ฐานฯด๊ากวิน พิกัด LV 611998 อย่างเด็ดขาด หากไม่เชื่อ จะทำการยิงถล่มหมู่บ้านท่าตาฝั่งของไทยทันที ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ราษฎรในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ตกใจเป็นอย่างมากและมีความเชื่อว่าทหารพม่า จะสามารถทำได้ตามที่พูดจริง เพราะแม้แต่เครื่องบินที่บินมาทิ้งระเบิดช่วยเหลือทหารพม่า ยังบินเข้ามาในเขตไทยได้ โดยไม่กลัวทางการไทยจะประท้วงพม่าแต่อย่างใด
ขณะที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน และภาคี แถลงการณ์เรียกร้องให้พิจารณาการชะลอการส่งกลับ และให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่ผู้หนีภัย ในสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากบริเวณ พรมแดนไทยพม่า ริมแม่น้ำสาละวิน ยังคงความตึงเครียด เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน พบว่าขณะนี้ฝ่ายความมั่นคง ยังคงมีมาตรการสกัดกั้นการเข้า-ออกยังชายแดนแม่น้ำสาละวิน เป็นการปิดกั้นเส้นทางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจาก กลุ่มบุคคล และองค์กรผู้มีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ที่มีความประสงค์ในการช่วยเหลือผู้หนีภัยสงคราม ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในครั้งนี้ มารตการดังกล่าวจึงทำให้ภาคส่วนต่างๆ ยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างเปิดเผย ทั้งที่เป็นการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ สิ่งของจำเป็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม อาทิ ข้าวสาร อาหาร ยา เวชภัณฑ์ ฯลฯ ส่งผลให้ผู้หนีภัยตามชายแดนมายังฝั่งไทยริมฝั่งน้ำสาละวินจากความไม่สงบ ราว 3 พันคน ต้องมีสภาพการอยู่ที่ลำบาก ต้องทนทุกข์ทรมาน ขาดอาหารและน้ำดื่มสะอาด ที่พักพิงเป็นเพียงเพิงผ้าใบที่ไม่สามารถกันแดดและฝน นอกจากนี้ยังขาดสุขอนามัยพื้นฐาน เพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ การระบาดของโรค มีผู้หนีภัยที่ล้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชรา ผู้หญิง
กลุ่มบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ ระบุว่ายังมีประชาชนที่หนีการโจมตีจากทหารพม่า หลบซ่อนตัวกระจายตามป่าเขาในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน ประชาชนเหล่านี้เผชิญกับการโจมตีโดยเครื่องบินรบของทหารพม่า และยังมีการส่งโดรนตรวจการณ์บินลาดตระเวนอยู่ตลอดจนบัดนี้ ประชาชนเหล่านี้จึงยังหวาดกลัว ไม่กล้ากลับเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ไม่สามารถคืนสู่บ้านเรือนและไร่นาของตนเองได้
สถานการณ์ในฝั่งพม่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เกิดความไม่สงบ เกิดความรุนแรง เข่นฆ่า และบาดเจ็บ ตามที่มีในรายงานข่าว สำหรับพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ก็เกิดการบุกโจมตีโดยเครื่อบบินของทหารพม่าเป็นเดือนที่ 3 แล้ว โดยสถานการณ์ยังไม่ทีท่าว่าจะสงบลงในเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ประชาชนต้องอยู่ในความเสี่ยงต่อชีวิต และต่างหวังว่าจะเกิดสันติภาพบนแผ่นดินมาตุภูมิในเร็ววัน
ล่าสุดเมื่อวันที่19 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย เดินทางไปแจ้งผู้หนีภัยจากการสู้รบมาอาศัยอยู่ทางฝั่งไทย ให้เดินทางกลับทั้งหมดภายในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือและกล่าวกับฑูตพิเศษด้านพม่าของสหประชาชาติ ว่ารัฐบาลไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับประชาชนที่หลบหนีจากสถานการณ์การสู้รบในพม่า โดยทั้งสองฝ่าย หารือถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า ไทยดำเนินการทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สถานการณ์ในพม่าคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวพม่า
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่พรมแดนไทยพม่า ที่แม่น้ำสาละวิน อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามพบว่าจนบัดนี้นโยบายของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวยังไม่เกิดในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการเปิดช่องทางในการเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยที่พักพิงอยู่บริเวณชายแดน
ในนามของชุมชนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนไทย ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย พิจารณาแก้ปัญหาวิกฤติมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน ดังนี้
1. ขอให้ชะลอการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดน ทุกจุด จนกว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ปลอดภัย เหมาะสม และมีส่วนร่วม ยึดหลักการห้ามผลักดันกลับ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งกำหนดพันธกรณีแก่รัฐ กล่าวคือ รัฐไม่อาจผลักดันผู้อพยพหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับออกไปได้ทันที หากปรากฏว่าการผลักดันกลับนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพของบุคคลนั้น ซึ่งได้กำหนดไว้ในตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย
2. ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเปิดเส้นทางในการเข้าช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรมในทันที
3. ให้ฝ่ายความมั่นคง มอบภารกิจในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคม องค์สาธารณกุศล ดำเนินการแก้ปัญหา
4. ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ ประกอบด้วยกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานของสหประชาชาติ เช่น UNHCR แลประสานกับองค์กรในพม่า ร่วมคลี่คลายปัญหาจากสถานการณ์นี้
ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และความจริงใจ สามารถตรวจสอบได้ เปิดเผยต่อสาธารณะ แก้ปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมนี้ในทันที เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน และภาคี
ทางด้าน ศูนย์สั่งการชายแดน ไทย – เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ ประจำวันที่ 19 พ.ค. 64 เวลา 12.00 น. ว่าตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 64 เวลา 15.00 น เป็นต้นมา ได้มีราษฎรชาวเมียนมาเดินทางข้ามมายังประเทศไทยโดยทางเรือ ซึ่งทางทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยอีนวล ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียงและพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีราษฎรชาวเมียนมาที่เดินทางข้ามมายังประเทศไทยจากเหตุความไม่สงบในเมียนมาพักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวจำนวน 4 แห่ง รวม 1,775 คน ดังนี้
– พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยมะระ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 585 คน
– พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยจอกลอ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 82 คน
– พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยโกเกร๊ะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 1,058 คน
– พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยแห้ง ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จำนวน 50 คน
เมียนมาสั่งนักการทูตกลับประเทศราว 100 คน หลังหนุนการต่อต้านรัฐบาลทหาร
สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างถึงเอกสารภายในที่รั่วไหลออกมาระบุว่า รัฐบาลเมียนมาได้สั่งให้นักการทูตเมียนมาราว 100 คนเดินทางกลับประเทศในทันที หลังจากที่นักการทูตเหล่านั้นให้การสนับสนุนขบวนการอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่นักการทูตบางรายไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งและยังคงอยู่ในประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป พร้อมยังได้กล่าวสนับสนุนกองกำลังประชาธิปไตยในเมียนมาเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารด้วย
รายงานระบุว่า นักการทูตที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับเมียนมานั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน 20 ประเทศรวมถึงสหรัฐ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ในจำนวนนั้นมีนายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำสหประชาชาติ (UN) ซึ่งได้แสดงการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของที่ประชุม UN เมื่อวันที่ 26 ก.พ.
นายจอ โม ตุนได้เพิกเฉยต่อการถูกสั่งปลดจากรัฐบาลทหาร และได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกให้การสนับสนุนกองกำลังประชาธิปไตยในเมียนมา
ด้านนายจอ ซวา มินน์ เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอังกฤษได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การก่อรัฐประหารเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และได้ถูกสั่งให้ออกจากสถานทูตในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนเม.ย ที่ผ่านมา
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่