วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2024

รัฐประหารเมียนมา : นักธุรกิจไทยต้องเผชิญอะไรในรอบ 3 เดือนของการนองเลือด

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ & สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี
  • บีบีซีไทย

ทหารเดินตรวจร้านค้าในตลาดแห่งหนึ่งในอ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประกอบการชายแดนไทย-เมียนมาใน จ. แม่ฮ่องสอนระบุว่ามูลค่าการส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง 30%

สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาหลังกองทัพทำรัฐประหารในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเมียนมาแล้ว นักธุรกิจไทยในเมียนมาก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากซ้ำสอง หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว

ผู้ประกอบการชายแดนไทย-เมียนมาใน จ. แม่ฮ่องสอนระบุว่ามูลค่าการส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง 30% และอาจไม่ขยายการลงทุนเพิ่มในเขตนิคมอุตสาหกรรมในนครย่างกุ้ง หลังนักลงทุนญี่ปุ่นบางส่วนถอนตัวกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้นักธุรกิจไทยหลายคนหวังว่าจะได้เห็นสัญญาบวกจากการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา และหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะไปร่วมประชุมด้วย นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้ายึดอำนาจเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา

คาดว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี

ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย โดย นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าจากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในเมียนมามากว่า 30 ปี ถือว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้รุนแรงที่สุด ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มาแล้วเป็นเวลากว่าหนึ่งปี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ไทยกำลังตรวจสอบสินค้าที่แรงงานกะเหรี่ยงในไทยเตรียมลำเลียงขนส่งข้ามชายแดนไทย-เมียนมา ที่บ้านแม่สามแลบเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา

“ธุรกิจได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมดทุกภาคส่วน เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มมีการเดินขบวนประท้วงอารยะขัดขืน ของกลุ่ม CDM (Civil Disobedience Movement) ได้มีการเชิญชวนพนักงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมในการประท้วงรัฐบาลใหม่ด้วย” นายกริชระบุ

เขาขยายความว่า การประท้วงต่อเนื่องทำให้การสัญจรไม่สะดวก มีการปิดเส้นทาง อีกทั้งไม่มีความปลอดภัย ทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่เปิดทำการ ธุรกิจต่าง ๆ ก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ อีกทั้งการขนส่งมีปัญหา การส่งมอบสินค้าไม่สามารถจัดการได้ จึงทำให้ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

นักการทูตระดับแนวหน้าของชาติหนึ่งในอาเซียนเชื่อว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะยอมเห็นพ้องกับอาเซียนเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น

ด้านนายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก ซึ่งทำธุรกิจกับเมียนมามาตลอด 30 ปี บอกว่า ผลกระทบทั้งต่อการลงทุนในเมียนมาและการค้าชายแดนถือว่า รุนแรง และน่ากลัวมากที่สุด

“พวกเราไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในระบบประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ย้อนกลับไปหาอดีตอีก ” นายสุชาติกล่าว

เขาเสริมว่า การลงทุนและความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนหายไป ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนยังทำให้ขาดแคลนแรงงาน ทำให้การผลิตสินค้าส่งออกสะดุดลง

ขาดแรงงาน กำลังการผลิตลดฮวบ

คนไทยเจ้าของโรงงานเสื้อผ้าในนครย่างกุ้งผู้ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลทางด้านธุรกิจ บอกกับบีบีซีไทยว่า โรงงานของเขาทำเสื้อผ้ากีฬาส่งออกไปตลาดยุโรปมาแล้ว 8 ปี ได้รับผลกระทบไม่น้อยนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 มาจนถึงความวุ่นวายทางการเมือง

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมาระบุว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมดทุกภาคส่วน เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มมีการเดินขบวนประท้วงอารยะขัดขืนของกลุ่ม CDM (Civil Disobedience Movement)

การระบาดของโควิดทำให้โรงงานต้องจัดผังการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคของทางการเมียนมาโดยต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างจุดทำงานของพนักงาน ทำให้กำลังการผลิตต้องลดลงราว 20-25% จากปกติ 150,000 ตัวต่อเดือน

ส่วนการชุมนุมประท้วงทำให้การบริหารจัดการพนักงานกว่า 1,400 คนในโรงงานเป็นเรื่องท้าทาย พนักงานส่วนใหญ่เข้าร่วมกระบวนการอารยขัดขืนอีก ทำให้กำลังการผลิตหายไปช่วงหนึ่ง สถานการณ์ของโรงงานดีขึ้นหลังการปราบปรามจากภาครัฐ

ที่มาของภาพ, กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

คำบรรยายภาพ,

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

“นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาสถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่ลายลงหลังทางการปราบปรามกลุ่มผู้ออกมาชุมนุมอย่างหนัก ทำให้ชาวเมียนมาบางส่วนกับมาทำงานแต่กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นมาระดับหนึ่งเท่านั้นหรือราว 60% แต่รายได้หายไป 40% ก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน” นักธุรกิจรายนี้กล่าว

เขาหวังว่า การประชุมที่จาการ์ตา จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

“เราก็อยากรู้ว่าจะเดินไปทางไหนต่อได้ ในตอนนี้มีหลายกระแส บ้างก็ว่าทหารยึดอำนาจนาน บ้างก็ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ผมก็หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ไม่เช่นนั้นหากมีผลต่อการทำธุรกิจ ก็ต้องทบทวนเรื่องการลงทุนในอนาคต” เขากล่าว

คนไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมา

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุในรายงานเมื่อ มี.ค. ถึงมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา (Special Economic Zone: SEZ) ว่ามีมูลค่าคงเหลือ 1,382.485 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 41,460 ล้านบาท โดยมาจากประเทศผู้ลงทุนหลัก 5 อันดับ ได้แก่

1) ญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการลงทุน 447.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 14,016 ล้านบาท คิดเป็น 32.36%

2) สิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 415.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13,015 ล้านบาท คิดเป็น 30.05%

3) ไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน 175.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,267 ล้านบาท คิดเป็น 12.70%

4) เกาหลีใต้ ด้วยมูลค่าการลงทุน 96.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,018 ล้านบาท คิดเป็น 6.97%

5) ไต้หวัน ด้วยมูลค่าการลงทุน 63.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,983 ล้านบาท คิดเป็น 4.58%

Please activate Javascript

การค้าชายแดนลดลงอย่างน้อย 30%

บรรยากาศการค้าชายแดนไทย-เมียนมาตามด่านสำคัญก็ดูซบเซา โดยเฉพาะที่อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีด่านพรมแดนไทย-เมียนมา(แม่สอด-เมียวดี) 2 แห่ง เชื่อมโยงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ถือว่า เป็นด่านพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยด้วยมูลค่าการส่งสินค้าออกไปเมียนมาสูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี

ทว่า นับแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-9 มาจนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในเมียนมาและพ่อค้าส่งสินค้าออกไปชายแดนทุกด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ทำให้มูลค่าการซื้อขายการส่งออกสินค้าไปประเทศเมียนมา ลดลง 30%

นายสุชาติ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก และนักธุรกิจส่งออกสินค้าอุปกรณ์การเกษตรไปเมียนมา บอกว่า แม้ว่าสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมาในขณะนี้สามารถดำเนินการไปได้บ้างแล้ว แต่มูลค่าการส่งออกกลับลดลงไป 30% จากเดิมช่วงปกติมูลค่าการส่งออกเดือนละ 7,000 ล้านบาท

ที่มาของภาพ, กระทรวงกลาโหม

คำบรรยายภาพ,

ผลจากการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกองทัพเมียนมา ทำให้เจ้าหน้าที่ของถอดเครื่องรับสัญญาณและจานรับดาวเทียมของประชาชนในมณฑลอิรวดี และรัฐมอญออกไป ซึ่งส่วนหนึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัดของไทย

ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา ที่ทำให้ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจขาดความมั่นใจต่อการค้า การลงทุน การใช้จ่าย และส่งผลให้ค่าเงินเงินจ๊าดตกต่ำลง เป็น 100 จ๊าด เท่ากับ 2.12 บาท จากเดิมที่ 100 จ๊าด เท่ากับ 2.30 บาท และเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่ากับ 1,600 จ๊าด จากเดิม 1,300 จ๊าด ก่อนรัฐประหาร

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-เมียนมาในช่วง 2 เดือนแรกในปีนี้ (ม.ค. – ก.พ. 2564) มีมูลค่าการค้ารวม 1,091.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 32,732 ล้านบาท ลดลง 12.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไทยมีการส่งออกไปยังเมียนมาเป็นมูลค่า 649.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 19,490 ล้านบาท ลดลง 15.16% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการคุมเข้มการเข้าออกด่านชายแดนและจุดผ่อนปรนทางการค้าหลายจุด

ต่างชาติชะลอการลงทุน

นับตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมา นอกจากชาติมหาอำนาจจะออกมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำกองทัทแล้ว บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมาหลายชาติก็พิจารณาทบทวนแผนการลงทุน หรือไม่ก็ชะลอการลงทุนไปแล้ว

เว็บไซต์นิเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อ 13 เม.ย. ว่า โตโยต้า บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ได้ประกาศชะลอการเปิดโรงงานที่เขตนิคมอุตสาหกรรมติละวา ใกล้กับนครย่างกุ้ง จากแผนเดิมที่จะเปิดในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ ซูซูกิ ที่ชะลอการก่อสร้างโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

ที่มาของภาพ, BBC Thai Stringer

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานเมื่อ 11 มี.ค. ว่า บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศชะลอแผนลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน-แอลพีจีในเมียนมา

นายสุชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทคูโบต้าของญี่ปุ่นในเมียนมา บอกว่า ญี่ปุ่นได้ลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมติละวาแล้ว และได้เปิดจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร โดยมีการเปิดโชว์รูมรถแทรกเตอร์ ไว้ 3 สาขาในเมียนมา และมีร้านอาท์เล็ต 3 แห่ง มีพนักงานกว่า 100 คน แต่ขณะนี้ไม่มีงานเลย ธุรกิจลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น

“เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารต้องกลับประเทศไทยร่วม 1 ปีแล้ว เพราะการระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา และพนักงานอีก 30 คน ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไปก่อน และต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมติละวานั้น ต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวและผู้บริหารจากประเทศญี่ปุ่นได้กลับประเทศไปแล้ว” เขาอธิบาย

ที่มาของภาพ, BBC Thai Stringer

คำบรรยายภาพ,

นายสุชาติ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก และนักธุรกิจส่งออกสินค้าอุปกรณ์การเกษตรไปเมียนมา

สำหรับตัวเขาเองที่ทำธุรกิจการค้าชายแดนมานานกว่า 30 ปี มีการลงทุนธุรกิจในธุรกิจเครื่องมือเกษตรในเมียนมา 10 ปี นายสุชาติเล่าว่า ตัวเขาและเพื่อนนักธุรกิจหลายคนจะไม่เพิ่มเม็ดเงินลงทุนในเมียนมาอีกต่อไป แต่จะประคองธุรกิจที่มีอยู่ให้รอดก่อน

ส่วนความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น นายสุชาติเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะ “คนที่จะไปกู้เงินจากธนาคารก็แย่อยู่แล้ว ทางธนาคารคงไม่ให้ด้วยเพราะมีความเสี่ยงเหมือนกัน”

แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน

หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.