ส.อบจ.แม่ฮ่องสอน เขต อ.แม่ลาน้อย พร้อมด้วย นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบุกยื่นหนังสือต่อ นอภ.แม่ลาน้อย คัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ หวั่นกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมคนในพื้นที่ใกล้เคียง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นายอุทิศ ซาววงศ์ สจ.อ.แม่ลาน้อย เป็นผู้แทนพร้อมนำ นายก อบต.สันติคีรี นายก อบต.แม่ลาหลวง นายก อบต.ขุนแม่ลาน้อย นายก อบต.แม่นาจาง นายก อบต.แม่โถ กำนัน ต.สันติคีรี กำนัน ต.แม่ลาหลวง รักษาการกำนัน ต.แม่นาจาง กำนัน ต.แม่โถ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านชาว ประมาณ 20 คน รวมตัวเข้ายื่นหนังสือคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ หวั่นส่งผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่าน นอภ.แม่ลาน้อย โดยมี ว่าที่ ร.ต.วิทยา โปทาศรี ปลัดอาวุโส อ.แม่ลาน้อย เป็นผู้รับหนังสือแทน ณ ห้องประชุม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
โดยนายอุทิศ ซาววงศ์ สจ.อ.แม่ลาน้อย เผยว่าสำหรับการรวมตัวของผู้นำชุมชนและชาวบ้านในครั้งนี้ เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ และระเบิดหินเพื่อการอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่เขตหมู่บ้านห้วยมะกอก หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้ขอคัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่ และขอให้ยุติโครงการ ทั้งนี้จะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล ประกอบด้วย ต.สันติคีรี ต.แม่ลาหลวง ต.แม่โถ ต.แม่นาจาง และต.ขุนแม่ลาน้อย จึงร่วมกันขอคัดค้านอย่างเต็มที่ เหตุผลในการขอคัดค้านในครั้งนี้คือผลกระทบที่ตามมา จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการคมนาคม ปัญหาคนต่างด้าว และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ฉะนั้นชาวบ้านและแกนนำต่างๆ จึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่และขอให้ยุติโครงการ
ด้านนายเสรี พิรุณกันทร ผู้ใหญ่บ้าน ห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2564 ได้รับหนังสือจาก อุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน ที่ มส. อ 033 (5) 239 สำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน 124/1 ถนนขุนลุมประพาส อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เรื่อง ขอความร่วมมือปิดประกาศการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี สิ่งที่ส่งมาด้วยมี ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ จำนวน 1 ชุด มีข้อความว่า ด้วยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรที่ 3/2538 ของบริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด ชนิดแร่ฟลูออไรด์ ตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
ทางสำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่มาปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564 ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากท่านให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ให้ทราบทั่วกัน ถ้าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนี้ หรือมีการเกี่ยวข้องด้วยประการใดก็ดี ให้ทำคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานไปยื่นต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศนี้ เมื่อครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 23 เดือน เมษายน พ.ศ 2564 แล้ว ถ้าไม่มีผู้ใดร้องคัดค้าน เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ต่อไป
ขณะที่ ชาวบ้านรายหนึ่ง เผยว่าชาวบ้านจากหลายตำบลที่ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวใกล้ๆกัน เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ทำกินของชาวบ้าน และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า และใกล้แม่น้ำแม่ลาหลวง ที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำยวม ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบทำให้ปลาในแม่น้ำใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังหวั่นได้รับผลกระทบเสียงดังจากการระเบิดหิน หากปล่อยให้มีการสัมปทาน จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีค่าเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านจึงร่วมกันลงชื่อคัดค้าน โดยชาวบ้านยืนยันว่า จะเดินหน้าคัดค้านการขอสัมปทานดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.วิทยา โปทาศรี ปลัดอาวุโส อ.แม่ลาน้อย กล่าวว่า สำหรับเหมืองแร่ฟลูออไรด์นี้เคยเป็นเหมืองเก่าทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 แล้ว ได้มาทำสัมปทานขออนุญาตใหม่ ในส่วนของ อ.แม่ลาน้อย หลังจากได้รับหนังสือจากชาวบ้านในการยื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์แล้ว เนื่องจากหวั่นได้รับผลกระทบ ก็ต้องทำตามขั้นตอนโดยจะเตรียมยื่นหนังสือ นำเสนอหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้พิจารณา และยื่นไปทางอุตสาหกรรมจังหวัด และทาง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อพิจารณาต่อไป