พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันพุธนี้ว่า ประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงในประเทศเมียนมา หลังจากที่ทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และทางไทยได้ขอให้เมียนมาลดผลกระทบลง
หลังจากที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจ และควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ทางการเมียนมาได้สังหารผู้ประท้วงแล้วกว่า 600 คน และยังได้โจมตีชาวกะเหรี่ยง ในจังหวัดผาปูน (มื่อตรอ) มาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม นี้ ทำให้ประชาชนราวสองหมื่นคนหลบหนีออกจากชุมชน โดยหลายพันคนเดินทางข้ามมายังพรมแดนไทย ด้านอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และถูกส่งกลับไปมา
“ในส่วนของรัฐบาล เราก็ได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาผ่านช่องทางของกระทรวงต่างประเทศ อาเซียน ซึ่งก็ได้มีการประชุมในระยะเวลาอันใกล้นี้ เราต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบนะครับ เราทำตามใจตัวเองเราไม่ได้มากนัก เพราะว่าอะไร เรามีชายแดนที่ติดกัน แล้วเราก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันหลาย ๆ อย่าง แต่ส่วนของความรุนแรง เราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ก็ได้เสนอไป ได้แจ้งไปตลอดเวลา ขอให้ลดผลกระทบอะไรเรื่องเหล่านี้ให้ได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยสู้รบ เช่น ให้การรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจนมีอาการปลอดภัยหลายราย และอนุญาตให้นำสิ่งของช่วยเหลือไปให้
“วันนี้ ก็ได้นำการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้เขาดำรงชีพอยู่ได้ในฝั่งตรงข้ามของเขา เพราะว่าสถานการณ์มันยังไม่วิกฤตขนาดนั้น ก็ต้องไปดูอีกทีว่า สถานการณ์วิกฤต เราจะเตรียมความพร้อมไว้อย่างไร ไม่ใช่เราไม่ดูแลมนุษยธรรมของเขา ชีวิตคนก็คือชีวิตคน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ผ่านมานี้ ทางทหารไทยอนุญาตให้ส่งของจากไทยไปยังฝั่งพม่า แต่ในวันรุ่งขึ้นกลับประกาศให้ส่งของผ่านทางกาชาดแทน
“เมื่อวันที่ 5 เมษา ทหารอนุญาตให้นำเรือขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยไปส่งให้ฝั่งพม่าแล้ว ต่อมาในวันที่ 6 ไม่มีการส่งของออกไป โดยทหารประกาศว่า ใครที่ต้องการจะนำของไปช่วยเหลือให้ไปส่งไว้ที่สำนักงานกาชาด และกิ่งกาชาด แม่ฮ่องสอน ขุนยวม และปาย วันที่ 8 เมษายน ทหารจะนำรถ 5 คัน ช่วยขนของจากสำนักงานกาชาดไปส่งให้ผู้ลี้ภัย สำหรับเราก็ประเมินว่า เป็นความก้าวหน้าในเรื่องความช่วยเหลือ” น.ส.พรสุข กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นางสาวพรสุข กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบว่า ยังคงมีเสียงระเบิดอย่างต่อเนื่อง และมีผู้หลบภัยอยู่ฝั่งไทยประมาณ 2 พันคน และอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามประมาณ 2 พัน ขณะที่มีอีกหลายพันคนอยู่ลึกเข้าไป
“สถานการณ์เมื่อวานยังคงได้ยินเสียงระเบิด เฮลิคอปเตอร์ และโดรน บินไปมาอยู่ ทำให้เชื่อว่าชาวบ้านไม่น่าจะกล้ากลับเข้าไปยังบ้านตัวเอง ที่น่ากังวลคือ ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เขาจะลำบากแน่ เพราะไม่ได้ปลูกข้าว เขาก็จะไม่มีข้าวกิน ดังนั้น เรายืนยันตามแถลงการณ์ของเราว่า อยากให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือที่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะต่อให้ชาวบ้านได้รับของช่วยเหลือที่คนส่งไปให้ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จอะไร เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” นางสาวพรสุขกล่าว
“สถานการณ์การสู้รบก็น่าจะอีกนาน เพราะเคเอ็นยูพยายามผลักดันทหารพม่าให้ออกไป ซึ่งทหารพม่าก็น่าจะตอบโต้อยู่แล้ว ไม่น่าจะจบในเร็ว ๆนี้ ไม่น่าจะทันฤดูฝน” นางสาวพรสุข กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา และได้มีการจัดงานฉลองในกรุงเนปิดอว์ โดยประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานด้วย ขณะที่หลายประเทศได้ปฏิเสธการเข้าร่วม และในตอนค่ำวันเดียวกัน กองทัพอากาศเมียนมาได้ใช้เครื่องบินโจมตีเป้าเหมาย ในบ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปูน) รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตกองพลน้อยที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) อย่างน้อย 3 รอบ
เดวิด ยูแบงค์ อดีตทหารรบพิเศษสหรัฐ และผู้ดำเนินองค์กรเอ็นจีโอ Free Burma Ranger ซึ่งให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงมาหลายทศวรรษกล่าวว่า ในการโจมตีในหุบเขาเดปู่โน่ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม และเช้าวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย
หลังจากนั้น ในวันที่ 30 มีนาคม แหล่งข่าวเคเอ็นยู ได้เปิดเผยว่า มีการโจมตีเหมืองทองคำในหมู่บ้านแม่วาย มีผู้เสียชีวิตทันที 6 ราย และมีการโจมตีกองกำลังกองพลน้อยที่ 3 ของกะเหรี่ยง ในหมู่บ้านแมะปะหวะ อีกระลอก มีผู้เสียชีวิตอีก 6 ราย
ในวันจันทร์นี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง 3 เมษายน นี้ กองกำลังทหารของกองทัพเมียนมาหรือทัตมาดอว์ ในจังหวัดผาปูน ได้ยิงปืนครกใส่หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,500 คนต้องอพยพออกไป
แหล่งข่าวความมั่นคงกล่าวว่า สาเหตุการสู้รบระลอกใหม่นี้ สืบเนื่องมาจากการที่กองกำลังกะเหรี่ยงได้ปฏิเสธที่จะให้ฝ่ายไทยส่งข้าวสารจากด่านผ่อนปรนแม่สามแลบ ข้ามแม่น้ำสาละวินไปให้กองกำลังทหารเมียนมาที่ฐานส่วนหน้าต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง หลังจากที่ทางเคเอ็นยู ประกาศปกป้องผู้ประท้วง
ในส่วนการส่งออกข้าวสารนั้น พลโท สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก กล่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคมว่า เป็นเรื่องของผู้ประกอบการโดยตรง เป็นการค้าชายแดนตามปกติ กองทัพไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไปดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ และ จนท.ไม่ได้ปิดกั้นการค้าขายชายแดน หากดำเนินการในกรอบของกฎหมาย และเป็นไปตามขั้นตอนของศุลกากร
ในท้ายที่สุด สื่อท้องถิ่นระบุว่า ชาวบ้านพบเห็นว่าข้าวสารทั้ง 700 กระสอบได้ถูกขนออกไปจากริมน้ำ ในตำบลแม่สามแลบ เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา
หลังการโจมตีในรัฐกะเหรี่ยง กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ได้เตรียมตัวในการสู้รบกับกองกำลังทัตมาดอว์ (ทหารเมียนมา) ซึ่งนักสังเกตการณ์กล่าวว่า อาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว