ในวันศุกร์นี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงหนีภัยสงครามจากประเทศเมียนมา มาอยู่ในฝั่งประเทศไทย บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,167 คน หลังจากที่รัฐบาลไทยอ้างว่า บางส่วนกลับประเทศไปแล้วโดยสมัครใจ ด้านนักสิทธิมนุษยชนระบุ รัฐไทยพยายามผลักดันกะเหรี่ยงกลับอย่างไม่สมัครใจ ทั้งที่รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ
นายธานี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาที่หนีภัยสงครามมายังประเทศไทย และเป็นห่วงกังวลในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา
“สำหรับจำนวนผู้หนีภัยชาวเมียนมา นับถึงเมื่อวันที่ 1 เมษายน คงเหลือ 216 คน แล้วก็มีผู้หนีภัยกลุ่มใหม่เข้ามาอีก 951 คน รวมเป็นผู้หนีภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งสิ้น 1,167 คน ส่วนมากเป็นเด็ก สตรี คนชรา และผู้ป่วย ยังมีการทยอยเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้หนีภัยความสู้รบจากพม่า มีการเดินทางเข้าออกตลอดเวลา” นายธานี ระบุ “เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้หนีภัยที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สู้รบในเมียนมา 7 คน จากการตรวจสอบในวันนี้ ก็ยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่อำเภอแม่สะเรียง”
ขณะเดียวกัน ต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา นายธานี ยืนยันว่า ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลเมียนมาจะเร่งหาวิธีแก้ไขความรุนแรงด้วยการพูดคุย
“อยากขอให้ทางการเมียนมาใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมาก ในการดำเนินการใด ๆ รวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ยุติความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพิ่มมากขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมกันและหาทางออกโดยสันติวิธี เพื่อเมียนมาและประชาชนเมียนมาด้วยการพูดคุยผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใด ๆ ที่สะดวกโดยเร็ว… เมียนมาที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ ความเป็นปึกแผ่น และความเจริญรุ่งเรืองจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะสำหรับเมียนมา แต่สำหรับอาเซียน ภูมิภาค และนอกภูมิภาคด้วย” นายธานี กล่าว
นายธานี ยังชี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบัน ประเมินว่า ยังไม่ถึงสถานการณ์ที่ต้องประกาศอพยพคนไทย 719 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในเมียนมากลับประเทศ แต่ได้มีแผนสำหรับรับมือแล้ว หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิดแล้ว
“ท่านนายกฯ ได้สั่งการแล้วก็มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานดูแลพื้นที่ตามชายแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้บูรณาการทำงานร่วมกันได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ และมีการดูแลผู้ที่เรียกว่าหนีภัยเข้ามาตามชายแดนของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการดูแลก็จะเป็นตามหลักมนุษยธรรม หลักสากล” นายอนุชา กล่าว
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา และได้มีการจัดงานฉลองในกรุงเนปิดอว์ โดยประเทศรัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานด้วย ขณะที่หลายประเทศได้ปฏิเสธการเข้าร่วม และในตอนค่ำวันเดียวกัน กองทัพเมียนมาอากาศได้ใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศต่อเป้าเหมายในบ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปัน) รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตกองพลที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) อย่างน้อย 3 รอบ ทำให้ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 มีชาวกะเหรี่ยงนั่งเรือข้ามมาอยู่ในเขตประเทศไทยเพื่อความปลอดภััย
ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า มีผู้ลี้ภัยที่ข้ามจากประเทศเมียนมามายัง อำเภอสบเมย และแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2,897 คน และบางส่วนได้เดินทางกลับประเทศเมียนมาตามความสมัครใจ ตามการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย แม้นักสิทธิมนุษยชนจะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่หนีภัยสงคราม
ในวันศุกร์นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมอบวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันโดสให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยการสู้รบ
“เรานำวัคซีนมาที่แม่สะเรียงทั้งหมด เพื่อคัฟเวอร์คน 2 พันคน ผู้ป่วยชาวพม่าที่ได้รับบาดเจ็บ เราก็ให้การรักษาอย่างเต็มที่ 7 คนเช็คแล้วก็ไม่มีเชื้อโควิด ประชาชนที่ลี้ภัยเข้ามา จากประเทศเพื่อนบ้าน ฝ่ายความมั่นคงก็ตรึงกำลังไว้ ไม่ให้เข้ามาในเขตประเทศของเรา ใครป่วยเราก็รักษา ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ตั้งโรงพยาบาลสนาม เพราะคงไม่ให้เขาเข้ามาในพื้นที่ของเรา ก็เป็นไปตามหลักสากล หลักของเราอยู่แล้ว ที่เข้ามาพันกว่าคน ถ้ามีการระบาดก็ต้องดูแลเขา” นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ของนายอนุทิน มีตัวแทนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้ร้องขอต่อนายอนุทินว่า ต้องการเอาอาหารแห้ง และของจำเป็นส่งให้กับชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหลบภัยสงครามอยู่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งเมียนมา ซึ่งนายอนุทินก็รับปากว่า จะได้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย
“ขออนุเคราะห์ในเรื่องตอนนี้พี่น้องฝั่งโน้น มีผลกระทบจากสงคราม แล้วก็หนีมาตามตะเข็บชายแดน กะเหรี่ยงในไทยรวบรวมอาหารการกินจะส่งไปให้เขา ขออนุเคราะห์ให้เปิดช่องทางให้เราส่งให้กับเขา เพราะเขาไม่มีอะไรกิน” ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง (ไม่ทราบชื่อ-นามสกุล) กล่าวแก่นายอนุทิน ต่อหน้าสื่อมวลชน
ด้าน น.ส.พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันชาวกะเหรี่ยงจากประเทศเมียนมากลับประเทศ แต่อ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงเดินทางกลับโดยสมัครใจ
“จากข้อมูลของเรา ตอนนี้ ผู้ลี้ภัยถูกผลักดันกลับทั้งหมดแล้ว เมื่อวานนี้ มีกะเหรี่ยงกลุ่มสุดท้าย 46 คนข้ามมาถึงฝั่งไทยแล้ว แต่ถูกผลักขึ้นเรือกลับไป วันนี้ก็ไม่มีใครกล้าจะข้ามมาอีก แต่ก็มาหลบภัยแล้วนอนใกล้ ๆ แม่น้ำสาละวิน ที่รัฐอ้างว่า เขากลับไปอย่างสมัครใจ เราต้องบอกว่า การไม่สมัครใจ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถูกเอาปืนจ่อหัว แต่แค่ไล่แล้วยอมกลับ ก็คือ การไม่สมัครใจกลับ การที่เขาพยายามเจรจาเพื่อขออยู่ แต่ไม่ให้อยู่นั่นคือ เขาไม่ได้สมัครใจ อย่างไรก็ตาม ทหารยังคุมพื้นที่จุดนั้นอยู่” น.ส.พรสุข กล่าว
“รัฐพยายามบอกมาตลอดว่า เขาสมัครใจกลับ และไม่ได้บอกว่า ผลักดันกลับ แต่ข้อมูลปัจจุบัน คือ เขาถูกผลักดันกลับ แต่ก็ยังอยู่ที่ริมแม่น้ำ รัฐบาลควรให้ที่พักพิงพวกเขา เพราะถ้าไม่เดือดร้อนจริง ๆ เขาคงไม่ข้ามมา และหากฝ่ายความมั่นคงไม่รู้วิธีในการรับมือ ก็ควรให้หน่วยงานที่มีความสามารถ เช่น มหาดไทย ยูเอ็นเอ็ชซีอาร์ หรือภาคประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ช่วยเหลือในเรื่องนี้” น.ส.พรสุข ระบุ
ขณะเดียวกัน นายสันติพงศ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิสถานะบุคคล กล่าวแก่สื่อมวลชนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องการมากที่สุดในปัจจุบัน คือ อาหารและยา ดังนั้นรัฐบาลไทยควรช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้
“ก่อนหน้านี้มีผู้หนีภัยความตายมาหลายพันคนเข้ามาอยู่ แตะแผ่นดินไทยแล้ว แต่ว่าถูกผลักดันกลับ ทีนี้ไม่แน่ใจว่าถูกผลักดันกลับด้วยความสมัครใจหรือไม่ ทางรัฐบาลไทย ก็บอกว่า สมัครใจกลับ ผมก็ยังสงสัยอยู่ มันก็ย้อนแย้ง คนที่หนีภัยความตายมา อยู่ได้ข้ามคืน แล้วพรุ่งนี้สมัครใจกลับ บนสถานการณ์ที่มันไม่ดีเลย ผมว่ามันยังไง” นายสันติพงศ์ กล่าว
“หยูกยาอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นควรจะต้องช่วยกัน เราเป็นองค์กรภาคประชาสังคม เราควรจะสื่อสารให้กับสาธารณะ แต่เขาไม่ให้เราเข้าไป เจ้าหน้าที่บอกต้องไปทำเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ข้อเสนอสุดท้ายของเรา คือ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานการณ์รอบนี้ เพราะเรารู้ดีว่า ทหารมาอยู่ก็น่าจะเหนื่อยลำบากอยู่ ชุมชนแถวนี้น่าจะมีส่วนร่วม เป็นพี่น้องกัน ภาษาเดียวกัน” นายสันติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อวันพฤหัสบดี นายจิลเลี่ยน ทริคคส์ ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ด้านการมอบความคุ้มครอง หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศเมียนมา
“เราตกใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงการสู้รบที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างกองทัพเมียนมา และกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ต่าง ๆบริเวณชายแดน เหตุการณ์เหล่านี้ในเมียนมา กำลังบังคับให้ผู้คนต้องหนีภายในประเทศ และข้ามชายแดน เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้มอบที่พักพิง และความคุ้มครองต่อผู้คนที่หนีมา เพื่อแสวงหาความปลอดภัย” นายจิลเลี่ยน ระบุในแถลงการณ์
ขณะที่ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือเรื่องที่พักพิงต่อผู้หนีภัยสงครามจากประเทศเมียนมา เป็นการเร่งด่วน
“คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) กังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นในประเทศเกือบ 6,000 คน ทางใต้ของรัฐฉานบริเวณพรมแดนประเทศไทย ที่หนีภัยจากประหัตประหารจากกองทัพพม่า มาเกือบ 20 ปี… คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) จึงขอวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย ให้อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และจัดให้พวกเขามีที่พักพิง ที่หลบภัยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอีกหลายคน โดยแต่งตั้งนายมิน ส่วย รองประธานาธิบดี ให้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว ทั้งได้ตัดระบบสื่อสาร ยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ โดยรัฐบาลยืนยันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี
หลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมียนมาได้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศเมียนมาก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของรัฐบาลทหาร ทำให้กองทัพเริ่มใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม จนเริ่มมีประชาชนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศไปยังประเทศอินเดีย บังกลาเทศ รวมถึงไทย