อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย มอบนโยบายการป้องกัน และแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง เน้นจะต้องหามาตรการเสริม หรือเร่งรัดในการลดการเกิดไฟป่า ให้เปอร์เซ็นต์จุดความร้อนให้ลดมากกว่าปีที่แล้ว การบริหารจัดการข้อมูล ควรวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรมแต่ละช่วงเวลาด้วย เพราะจะเป็นการหาต้นตอของเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถปรับกลยุทธ์ในการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานตรวจเยี่ยมการซักซ้อมแผนการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ยังได้มอบนโยบาย และแนวทางในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในอนาคต ให้กับ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายหลังจากเดินทางมาชมการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) และผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบแนวทาง และนโยบายการติดตามผลการดำเนินงาน ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้กล่าวให้คำแนะนำ ในการดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ดีแล้ว หากแต่จะต้องหามาตรการเสริมหรือเร่งรัดในการลดการเกิดไฟป่า ให้เปอร์เซ็นต์จุดความร้อนให้ลดมากกว่าปีที่แล้ว การบริหารจัดการข้อมูล ควรวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรมแต่ละช่วงเวลาด้วย เพราะจะเป็นการหาต้นตอของเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถปรับกลยุทธ์ในการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความยั่งยืนในการสร้างผลิตภัณฑ์ลดการเผา ควรสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรู้ว่า หากใช้ผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยลดไฟป่าอย่างไร การปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางกำลังและทรัพยากร ให้ใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุด และหากทรัพยากรไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่เพียงพอ จะต้องมีแผนสำรอง การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนัก และรับรู้ช่องทางการแจ้งเหตุ เพราะทัศนคติของมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทศพล / แม่ฮ่องสอน