เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. นายชนก มากพันธ์ รอง ผวจ.แม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.แม่ฮ่องสอน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 12 หน่วยงาน ได้เดินทางมาร่วมประชุมตามแผนการป้องกันการทุจริตในพื้นที่เชิงรุก จ.แม่ฮ่องสอน กรณีป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษหมอกควันในอากาศ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน ณ. ห้องประชุม สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน
โดยในที่ประชุม พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน ได้แจ้งต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า ตามแผนการป้องกันการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในปีงบประมาณใหม่นี้ ทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณลงมาค่อนข้างมาก เพื่อดำเนินการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ป่ามากถึง 70 % ซึ่งตรงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือการร้องเรียนการทุจริตเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. ตนจึงได้เชิญหน่วยงานเข้ามาบูรณาการร่วมกันตรวจสอบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการทำแนวกันไฟไปมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามแผนที่ระบุไว้หรือไม่ มีการจัดจ้างในลักษณะอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ได้เนื้องานเหมาะสมกับงบประมาณที่จัดสรรลงไป และสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ได้อย่างแท้จริง
หลังการประชุมในช่วงสาย ได้บูรณาการกันออกตรวจสอบการทำแนวกันไฟในเขตรับผิดชอบ ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เขตอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่ ต.ผาบ่อง และ ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยตรวจสอบดูทั้งสภาพการทำแนวกันไฟของเก่า เมื่อ 1 – 2 ปี และการทำแนวกันไฟในปีงบประมาณใหม่ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในปีงบประมาณใหม่ มีเพียงการทำแนวกันไฟในเขตบ้านปางหมู บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ที่เสร็จเรียบร้อยตามความกว้าง 8 เมตร และความยาว 40 กิโลเมตร ที่ระบุไว้ตามแผน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการทำแนวกันไฟตามระยะเวลาที่กำหนด
นายกัมปนาท ประจงพิมพ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การทำแนวกันไฟจะต้องถากถางพื้นที่ให้เตียน เป่าเชื้อเพลิงออกให้กว้าง อยู่ระหว่าง 8-10 เมตร ตามสภาพพื้นที่ โดยเฉลี่ยต่อคนทำแนวกันไฟได้ประมาณ 100 เมตร/วัน มีการเข้าไปสำรวจพื้นที่ก่อนทำแนวกันไฟ อันดับแรกเน้นทำแนวกันไฟในพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า และพืชพันธ์ุที่สำคัญ ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าอย่างเข้มงวด รองลงมาเป็นบริเวณพื้นที่ป่าที่เกิดไฟไหม้บ่อยครั้งตามสถิติ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ จะดูความเหมาะสมในแต่ละปี ฉะนั้นการทำแนวกันไฟแต่ละแนวจะมีทั้งการทำแนวกันไฟพลาดผ่านแนวเดิม และการทำแนวกันไฟในพื้นที่สำรวจใหม่ แต่ทั้งนี้จะต้องดูงบประมาณที่จัดสรรลงมา เพราะแต่ละปีมีจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันทำแนวกันไฟอยู่ที่ 5,028 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร
พ.ต.ท. ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวหลังตรวจสอบดูการทำแนวกันไฟแล้วว่า “ ในปี 2564 มีงบประมาณจากกรมป่าไม้ งบยุทธศาตร์จังหวัดและงบจากโควิด จัดสรรลงมา จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อจัดทำแนวกันไฟแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันพิษ จำนวน 46 ล้านบาทเศษ พื้นที่ความยาวทำแนวกันไฟในทุกอำเภอ รวม 2,408 กิโลเมตร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ อยู่ระหว่างกระจายทำแนวกันไฟในทุกอำเภอ ในลักษณะการจ้างเหมาเสียส่วนใหญ่ แต่มีข้อสังเกตว่าการทำแนวกันไฟระบุเฉพาะเป็นอำเภอ แต่ไม่ระบุว่าทำที่ใดอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจทำให้มีโอกาสทับซ้อนกันได้
ทั้งนี้การทำแนวกันไฟถ้าได้รับงบประมาณมาแล้ว ทำกันอย่างจริงจัง จะสามารถป้องกันไฟป่าที่ลุกลามอย่างรุนแรงได้ ตรงนี้ทาง ป.ป.ช. จึงมีการเขียนแผนบูรณาการขึ้นมา เพื่อดูแลการป้องกันไฟป่าในระยะ 3 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสอบทุกเดือน เป็นการตรวจป้อมปรามให้มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง ตามระเบียบราชการ ป้องกันการทับซ้อน และดูว่าทำทันหรือล่วงเวลาเสี่ยงกับการเกิดไฟป่าหรือไม่ เพื่อให้ได้แนวกันไฟที่เป็นประโยชน์ และคุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดิน และสามารถลดปัญหาไฟป่าและมลพิษ ให้แก่ชาวแม่ฮ่องสอนได้อย่างแท้จริง
แหล่งข่าว อดีตข้าราชการในแม่ฮ่องสอน ระบุว่า งบทำแนวกันไฟ เป็นการละลายงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เหตุผลคือ การทำแนวกันไฟ เมื่อทำเสร็จ ใบไม้ในป่าก็ร่วงหล่นลงมาทับแนวกันไฟที่ทำไว้ โดยไม่มีใครหวนกลับไปดูแลแนวกันไฟที่เคยทำไป ในอดีต การทำแนวกันไฟ ได้มีการมอบงบให้กับผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ไปดำเนินการทำแนวกันไฟกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบ ทำบ้างไม่ทำบ้าง จึงทำให้ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ของงานตามเป้าหมายที่วางไว้ และส่อที่จะมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง